ผอ.รพ.แม่สอด ยึดหลักมนุษยธรรมรักษาผู้ป่วยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ-ฐานะ ยืนยันหากเจ็บป่วยต้องการความช่วยเหลือแพทย์ต้องดูแล เผยสถานการณ์มีภาระงบประมาณปีละ 40-60 ล้านบาท ระบุ จำเป็นต้องขายบัตรประกันสุขภาพ-ยิ่งเยอะยิ่งดี สามารถเกลี่ยช่วยกลุ่มผู้ยากไร้ได้
นพ.สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า โรงพยาบาลแม่สอดเป็นโรงพยาบาลชายแดนซึ่งมีผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามารับบริการ แต่เฉลี่ยแล้วจะมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เข้ามารับบริการมากกว่าคนไทย และยังมีชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางข้ามมารับการบริการด้วย โดยสัดส่วนผู้รับบริการ 10 คน จะเป็นชาวต่างชาติ 3-4 คน
นพ.สุชาติ กล่าวว่า นโยบายของโรงพยาบาลแม่สอดก็คือต้องดูแลทุกคนให้ดีที่สุดตามหลักของมนุษยธรรม คือเมื่อชาวต่างชาติเจ็บป่วยและต้องการการช่วยเหลือก็ต้องให้บริการโดยดูแลทุกชนชาติ ทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีบัตรประกันสุขภาพหรือไม่ มีกำลังทรัพย์มากน้อย หรือมีกำลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือไม่
นพ.สุชาติ กล่าวต่อว่า ผู้ที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลแม่สอดมีทั้งกลุ่มที่เดินทางเข้ามาค้าแรงงานในหัวเมืองชั้นใน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนและมีหลักเกณฑ์ในการเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพนั่นก็คือซื้อบัตรประกันสุขภาพ และกลุ่มที่เดินทางมาค้าแรงงานในช่วงเช้าและเดินทางกลับประเทศในช่วงเย็น หรือแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไม่นาน เช่น แรงงานภาคเกษตร ที่อยู่เพียงไม่กี่เดือนก็กลับประเทศ ซึ่งมักจะไม่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ
ทั้งนี้ ในกลุ่มที่มีบัตรประกันสุขภาพ เงินจากการซื้อบัตรก็จะถูกส่งเข้าไปบริหารจัดการในรูปแบบของกองทุนซึ่งคล้ายคลึงกับกองทุนประกันสังคมของคนไทย ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพก็จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่หากไม่มีเงินจ่ายจริงๆ ทางโรงพยาบาลแม่สอดก็จะต้องสังคมสงเคราะห์หรือให้ความอนุเคราะห์รักษาพยาบาล ซึ่งในแต่ละปีโรงพยาบาลจะมีภาระงบประมาณแตกต่างกันออกไป อยู่ราวๆ 40-60 ล้านบาท
นพ.สุชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือคอร์สแชร์ริ่งนั้น ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้โรงพยาบาลแม่สอดหรือโรงพยาบาลในประเทศไทยได้รับการพัฒนาไปมาก และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์จะพบว่าเราก้าวหน้ากว่าหรือเขาตามหลังเราอยู่ประมาณ 30-40 ปี ฉะนั้นในปัจจุบันในวันที่ประเทศเมียนมาร์มีเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีกำลังทรัพย์มากขึ้น เขาเหล่านั้นก็ข้ามเข้ามารักษาตัวที่ฝั่งประเทศไทย ซึ่งจะพบว่าใครมีเงินมากก็จะเข้าโรงพยาบาลเอกชนหรืออาจจะเดินทางต่อไปรักษาตัวยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ใครที่พอจะมีกำลังจ่ายแต่ไม่มากจะเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สอด ดังนั้นบางส่วนทางโรงพยาบาลก็ต้องเก็บค่ารักษาพยาบาล
ผอ.รพ.แม่สอด กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้สถานการณ์ทางการเงินของโรงพยาบาลยังพออยู่ได้ แต่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยโรงพยาบาลจะใช้วิธีเกลี่ยงบประมาณระหว่างกลุ่มที่มีบัตรประกันสุขภาพและกลุ่มที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง มาช่วยดูแลกลุ่มสังคมสงเคราะห์
“แน่นอนว่าเป็นงบประมาณจำนวนไม่น้อยที่เราต้องบริหารจัดการ แต่โชคดีที่เรายังมีแรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนมาช่วย คือถ้าขึ้นทะเบียนมากก็จะมีบัตรประกันสุขภาพแล้วก็จะเข้ารูปแบบการบริหารจัดการเงินกองทุน ซึ่งสามารถบริหารจัดการเกลี่ยมาช่วยในส่วนที่เป็นภารงบประมาณในแต่ละปีได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือเราต้องรักษาสมดุลให้ดี ถ้าถามว่าสถานการณ์ทางการเงินในขณะนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องตอบว่ายังพออยู่ได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังให้ดีและต้องมีการบริหารจัดการที่ดีจริงๆ” นพ.สุชาติ กล่าว
นพ.สุชาติ กล่าวว่า ยืนยันว่าโรงพยาบาลต้องขายบัตรประกันสุขภาพและยิ่งขายมากเท่าใดก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับบริหารจัดการช่วยดูแลกลุ่มสังคมสงเคราะห์ต่อไป โดยคนที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพในวัยหนุ่มสาวก็จะไม่ค่อยเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพเท่าใดนัก การเข้ารับการรักษาพยาบาลจึงมีไม่มาก ฉะนั้นเงินในระบบกองทุนส่วนนี้ก็จะถูกนำไปบริหารจัดการเพื่อดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงผู้ป่วยในกลุ่มสังคมสงเคราะห์ต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แรงงานโอด รพ.รัฐในภูเก็ต ไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ-ไม่ให้ใช้สิทธิคลอด
รอง สสจ.ภูเก็ต ยืนยัน แรงงานข้ามชาติยังซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ แต่ต้องตรวจร่างกายผ่าน
- 76 views