เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขชี้ ฉบับ 11 ยังนิยาม “นักวิชาการสาธารณสุข” ไม่ชัด กระทบอัตราค่าตอบแทน เผยบางจังหวัดตีความว่าอยู่ระดับ ปริญญาตรี ทั่วไป ทั้งที่ สธ.เคยบอกว่าอยู่ในกลุ่มสหวิชาชีพ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้เกี่ยวข้อง ที่ออกประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการของ สธ. ฉบับที่ 11 และ 12 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่บุคลากรสาธารณสุข อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเด็นที่ตกหล่น จึงอยากให้เพิ่มความชัดเจนเพื่อเป็นของขวัญที่สมบูรณ์ ใน 4 ประเด็นคือ

1.นิยามในเรื่องของนักวิชาการสาธารณสุข เนื่องจาก สธ.เคยสื่อสารในหลายๆ เวทีว่าอยู่ในกลุ่มสหวิชาชีพ แต่ว่าขณะนี้มีบางจังหวัดตีความว่าอยู่ในกลุ่มของ ปริญญาตรีทั่วไป ซึ่งอัตราค่าตอบแทนมีความต่างกัน

“ถ้ากลุ่มสหวิชาชีพ จะต่างจากพยาบาล 200 บาทในอัตราเดียวกัน แต่ถ้าเป็นกลุ่ม ปริญญาตรีทั่วไป จะต่างจากพยาบาล 700 บาทในอัตราเดียวกัน ซึ่งถ้ายึดตามที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) และกลุ่มงานประกัน สป.สธ. เคยสื่อสารในเวทีต่างๆ นักวิชาการสาธารณสุขจะอยู่ในกลุ่มสหวิชาชีพ แต่ตอนนี้บางจังหวัดมีคำสังให้เร่งรีบเบิกจ่าย และไปตีความว่าอยู่ในกลุ่ม ปริญญาตรีทั่วไป ซึ่งถ้าตีความในลักษณะที่ไม่เป็นคุณแบบนี้จะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรได้ จึงอยากให้มีการออกประกาศเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น” นายริซกี กล่าว

2.นิยามของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่เคยสื่อสารว่าจะแก้ไขระเบียบให้เป็นหน่วยบริการ แต่ตอนนี้ทราบว่ายังติดขัด ยังไม่ได้แก้ไข ทำให้บุคลากรกลุ่มนี้ไม่ได้รับค่าตอบแทนด้วย ทั้งๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ในด้าน ส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค ฟื้นฟู คุ้มครองผู้บริโภค เหมือนหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆเช่นกัน

นายริซกี กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้บุคลากรสาธารณสุขใน สสอ. 800 กว่าแห่งและบุคลากร สสจ.ในทุกจังหวัด ซึ่งมีนับหมื่น ต่างรอคอยความชัดเจนในประเด็นนี้อย่างใจจดใจจ่อเพราะหลายคนที่คาดหวังว่าปีนี้ สสจ. สสอ.จะได้ด้วยก็ผิดหวังไปตามๆ กัน ทั้งที่เป็นผู้ปฎิบัติงานสาธารณสุขเหมือนกลุ่มอื่น ภาระงานก็ควบคุม รพ.สต.ทั้งอำเภอ สสจ.ก็ควบคุมหน่วยบริการทั้งจังหวัด แต่มาติดขัดคำว่าหน่วยบริการ

"ชมรมฯ เห็นว่าควรมีการปรับแก้นิยามในหลายๆ ประเด็นให้ชัดขึ้น หรือมีการชี้แจงสั่งการในระดับพื้นที่ให้ชัดเจน เพราะถ้าให้แต่ละจังหวัดไปตีความเองก็จะกลายเป็นว่ามีบางจังหวัดได้ และบางจังหวัดไม่ได้ ส่งผลให้เกิดตวามเหลื่อมล้ำต่อไป” นายริซกี กล่าว

3.ค่าตอบแทนเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.) ในสายงานทั่วไปที่ศึกษาต่อจบปริญญาตรี ซึ่งใน ฉบับ 8 มีหนังสือ ว 261 ที่ให้มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่นักวิชาการหรืออื่นๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรที่จบปริญญาตรีแต่ไม่สามารถปรับตำแหน่งเข้าแท่งวิชาการได้ เนื่องข้อจำกัดต่างๆ เช่น การจัดสรรตำแหน่งที่ยังมีน้อย แต่ใน ฉบับ 11 ไม่มีรายละเอียดระบุในเรื่องนี้ ทำให้ตอนนี้ไม่ชัดเจนว่า จพ.ที่จบปริญญาตรี จะอ้างอิงคำสั่งเดิมได้หรือไม่ หรือต้องรอประกาศเพิ่มเติม เพื่อนิยามให้ชัดใน ฉบับ 11 ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการนับระยะเวลาซึ่งมีผลกับการนับอายุราชการ เพราะปีที่ผ่านมา หนังสือ ว 261 มีการตีความหลายแบบ บางแห่งก็นับตั้งแต่มีคำสั่ง บางแห่งนับตั้งแต่จบปริญญาตรี บางแห่งนับระยะเวลาเกื้อกูลตั้งแต่ทำงาน จึงอยากให้ สธ.นิยามประเด็นนี้ให้ชัดเจนด้วย

4.ชมรมขอทวงถามความคืบหน้าค่าตอบแทนกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ (ฉบับ 10) ด้วย สืบเนื่องจากที่เคยเรียกร้องว่าควรได้ทุกวิชาชีพจากเดิมที่ได้แค่ 4 วิชาชีพเท่านั้น และทางผู้ใหญ่บอกว่าจะหางบมาสนับสนุนให้ แต่ตอนนี้อ้างว่าติดขัดเนื่องจากผ่านพ้นช่วงปีงบประมาณ 2560 ไปแล้ว อาจต้องรอปีงบประมาณ 2561

“ซึ่งที่เกรงก็คือทราบว่าท่านปลัดกระทรวงจะเกษียณปีนี้ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายอาจไม่ต่อเนื่อง หรือนโยบายอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้ สธ.ชี้แจงความคืบหน้าในประเด็นค่าตอบแทน ฉบับ 10 ชายแดนใต้ด้วย” นายริซกี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลัด สธ.แจ้งเกณฑ์ค่าตอบแทน ฉบับ 11-12 ถึงหน่วยงานในสังกัด ให้ถือปฏิบัติตามนี้

เปิดบัญชีรายชื่อ รพช. รพศ./รพท. ได้ค่าตอบแทนฉบับ 11

ถาม-ตอบ ปัญหาค่าตอบแทน ‘สหวิชาชีพ รอประกาศ สายสนับสนุน รอความชัดเจนจาก สนย.’

สธ.ประกาศ 10 สหวิชาชีพรับค่าตอบแทนฉบับ 11 พร้อมแจงรายชื่อสายงานนับเวลาต่อเนื่องได้

‘นพ.สมศักดิ์’ ย้ำ “ค่าตอบแทน ฉ.11-12” ลดช่องว่างสร้างความเป็นธรรม