นักกฎหมายผ่าเนื้อหา พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผง ยืนยัน กฎหมายช่วยคุ้มครองไม่ให้แม่ตัดสินใจผิดพลาด-ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณา แจง สาเหตุที่ประเทศพัฒนาไม่มี กม.ลักษณะนี้ เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมนมผง ซัดสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก บิดเบือนข้อแนะนำ WHO สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2559 มีการจัดเวทีให้ข้อมูลสาธารณะหัวข้อ “สิทธิแม่ลูก VS นมผงหมื่นล้าน : ได้เวลาผ่านกฎหมายคุมการตลาดนมผง?” ซึ่งอยู่ภายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 แนวคิดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ผศ.ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ที่ต้องควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผง เพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของบริษัทนมผงทำให้กระทบต่อการตัดสินใจของแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เข้าใจผิดคิดว่านมผงดีกว่าหรือมีประโยชน์เท่ากับนมแม่ ทำให้เข้าใจผิดว่าหลัง 6 เดือน หรือ 1 ปี ไปแล้ว นมแม่ไม่มีประโยชน์ ทั้งที่ความจริงคือนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องกินอาหารอื่นร่วมด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านมผงจะดีกว่านมแม่ และยังทำให้เข้าใจผิดว่านมแม่ไม่พอ ทั้งๆ ที่การให้นมผงเร็วเกินไปทำให้ขัดขวางต่อร่างกายแม่ที่จะผลิตนมแม่โดยธรรมชาติ
นอกจากนี้ กฎหมายยังมีไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่การตัดสินใจที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ไม่ต้องถูกบิดเบือน เบี่ยงเบนด้วยการโฆษณาที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใดๆ รวมทั้งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของบริษัทในการส่งเสริมการขาย ซึ่งจะทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ลดลงด้วย
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชัดเจนว่าไม่ได้ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ แต่มุ่งควบคุมกลยุทธ์ของบริษัทนม ทั้งการให้ข้อมูล การโฆษณา และการส่งเสริมการตลาด
ผศ.ปารีณา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก แต่อาหารนั้นต้องถูกต้องตาม พ.ร.บ.อาหาร ส่วนประเด็นการให้ข้อมูล กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ควบคุมการให้ข้อมูลของแพทย์ เพราะเป็นหน้าที่แพทย์ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน แต่กฎหมายห้ามแพทย์โฆษณา และกฎหมายได้ควบคุมการให้ข้อมูลของบริษัทนม
ทั้งนี้ บริษัทนมจะให้ข้อมูลได้ภายใต้ข้อกำหนด
1.ต้องเป็นข้อมูลตามที่ปรากฏในฉลาก
2.ต้องไม่กล่าวอ้างข้อความที่พูดถึงโภชนาการและสุขภาพ
3.ข้อมูลต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ
นอกจากนี้กฎหมายยังห้ามส่งเสริมการตลาด ห้ามบริษัทนมให้ของขวัญสิ่งจูงใจแก่บุคลากรสาธารณสุข ห้ามสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ ส่วนการบริจาคอุปกรณ์ต่างๆ แก่หน่วยบริการสาธารณสุขยังสามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีตราสัญลักษณ์และไม่มีความเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ การสนับสนุนประชุมวิชาการสามารถทำได้เฉพาะกับองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขเท่านั้น
ผศ.ปารีณา กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้นที่มีกฎหมายควบคุมการตลาดนมเด็กทารกเช่นนี้ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วกลับไม่มี นั่นหมายความว่าประเทศไทยกำลังล้าหลังหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือบริษัทนมในประเทศไทย 6 บริษัท ล้วนแต่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฉะนั้นหากมีการออกกฎหมายควบคุมก็จะกระทบกับอุตสาหกรรมภายในประเทศของเขาได้
อย่างไรก็ตามในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการกำหนดมาตรการควบคุมอื่นๆ และยังมีข้อแตกต่างกับประเทศกำลังพัฒนาก็คือกลุ่มผู้บริโภคเข้มแข็ง และมีการควบคุมผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างอุตสาหกรรมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด
สำหรับข้อกังวลของสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ที่ระบุว่า นมแม่อย่างเดียวจะมีสารอาหารเพียงพอต่อการเติบโตของลูกจนถึงอายุประมาณ 6 เดือนนั้น เป็นการเบี่ยงเบนคำแนะนำของ WHO โดยการระบุเช่นนี้ทำให้เข้าใจผิดว่านมแม่มีประโยชน์เพียง 6 เดือนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ WHO แนะนำว่าหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว นมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือนมใดๆ อย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ต้องให้ควบคู่กับอาหารตามวัยด้วย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2553 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 ได้แสดงความกังวลถึงอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ของประเทศไทยที่ต่ำลงจนอยู่ในลำดับที่ 105 จาก 109 และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 แต่กลับไม่มีอำนาจบังคับใช้และไม่มีบทลงโทษหากฝ่าฝืน ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่ายังไม่เพียงพอในการควบคุมกลยุทธ์ด้านการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 จึงมีมติเห็นชอบการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และมีมติเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ดังกล่าว โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่ มอบหมายให้ สธ.ดำเนินการควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 พร้อมกันนี้ให้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ให้สำเร็จภายในปี 2555 ซึ่งภายในกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาขยายสิทธิการลาคลอด และปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการลาคลอดให้เป็น 180 วัน โดยให้ได้รับค่าจ้างระหว่างการลา และให้จัดสวัสดิการให้มารดาสามารถให้นมบุตรได้ในสถานประกอบการ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 ครม.มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 และเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2558 ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... ตามที่ สธ.เสนอ โดยปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
- 5 views