สพฉ.ย้ำได้เร่งพัฒนามาตรฐานรถพยาบาลและรถกู้ชีพฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เผยมีรถที่ผ่านการรับรองแล้วร้อยละ 71 พร้อมเดินหน้าจัดทำแอพลิเคชั่นให้ประชาชนสามารถตรวจสอบมาตรฐานรถพยาบาลได้ด้วยตนเองเพื่อความมั่นใจ
จากกรณีที่มีกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรถพยาบาลหลายราย เรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนรถพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยที่เรียกใช้บริการ และป้องกันปัญหารถพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้เข้าระบบนั้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ได้เร่งพัฒนามาตรฐานของรถพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเข้าใจดีว่าเมื่อประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สิ่งแรกที่ผู้ป่วยและญาติต้องการคือ การได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยเฉพาะยานพาหนะ รถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน รวมไปถึงบุคลากรที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและรวดเร็ว
สพฉ.ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น EMS Certified ขึ้นเพื่อตรวจสอบมาตรฐานได้ด้วยตนเอง เพื่อยืนยันว่าจะได้รับบริการจากรถปฏิบัติการฉุกเฉินและรถกู้ชีพฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจสอบมาตรฐานรถบริการฉุกเฉิน โดยสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ดังนี้
1. ถ่ายรูป คิวอาร์โค้ด ของรถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพพลิเคชั่นว่า ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ.หรือไม่
2. ตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สพฉ.ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่สำคัญคือมีที่ว่างสำหรับจัดวางเตียงพร้อมผู้ป่วยฉุกเฉินลักษณะนอนราบ และมีระบบระบายอากาศ และกระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ด้านข้างช่วงหลังทั้งสองข้างต้องแสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว
ส่วนอุปกรณ์ภายในรถถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตในขั้นต้น โดยอุปกรณ์จะต้องจัดอยู่ในสภาพเรียบร้อย สะอาด กรณีที่เป็นสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งที่อาจทำให้ติดเชื้อ จะต้องมีการจัดแยกให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงจัดให้เป็นระเบียบ เพียงพอ พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้ในการติดต่อ มีระบบการรับสัญญาณเตือนภัย และมี อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง (Hard collar) ไม่น้อยกว่า 3 ขนาดและสามารถปรับขนาดได้ มีเฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน ถุงมือปราศจากเชื้อ สำลี ผ้าพันแผล น้ำเกลือ อุปกรณ์ล้างตา เครื่องดูดเสมหะชนิดบีบมือ ที่หนีบสายสะดือ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิง
“ยืนยันว่า สพฉ.ได้เร่งพัฒนามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยสถิติการตรวจรับรองรถปฏิบัติการฉุกเฉินและรถกู้ชีพฉุกเฉินที่ผ่านมาตรฐานแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 8,704 คัน จากทั้งหมด 12,242 คัน ใน 77 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 71 และยังมีหลายจังหวัดที่กำลังเร่งดำเนินการออกใบรับรองมาตรฐานให้มีความครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะตรวจรับรองให้เสร็จสิ้นได้ในเร็วๆ นี้” นพ.อนุชากล่าว
ส่วนการดำเนินการกับผู้ลักลอบติดสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีโทษปรับ 500 บาท และหากตรวจพบจะต้องทำการยึดอุปกรณ์ไฟวับวาบ แต่หากมีการติดตั้งและเปิดสัญญาณไฟจะมีโทษปรับ 2,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ.
- 63 views