กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งทีมวิศวกร เข้าฟื้นฟูสถานพยาบาลในภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วม 30 แห่ง ใน 5 จังหวัด พื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พบส่วนใหญ่ให้บริการได้ มีปิดบริการเพียง 2 แห่ง ใน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช คือ รพ.สต.บางใหญ่ ต.บางจาก และ รพ.สต.บ้านช้าง ต.ท่าเรือ พร้อมแนะให้ประชาชนป้องกันน้ำกัดเท้า ชำระล้างทำความสะอาดเท้าทุกครั้ง หลังเดินลุยน้ำท่วมขัง
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ว่า ขณะนี้ สบส.ให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทั้ง 3 เขต ซึ่งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี สงขลา และนครศรีธรรมราช จัดทีมวิศวกรฉุกเฉิน 9 ทีมพร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือสถานบริการที่ประสบภัยทั้งด้านอาคาร สถานที่ให้บริการ เครื่องมือแพทย์ และระบบการสื่อสารเพื่อให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลฉุกเฉินและการส่งผู้ป่วยรักษาต่อ
นพ.ประภาส กล่าวต่อว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ได้รับรายงานมีสถานพยาบาลถูกน้ำท่วม 30 แห่ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 13 แห่ง, สงขลา 8 แห่ง, พัทลุง 5 แห่ง, ตรัง 3 แห่ง และประจวบคีรีขันธ์ 1 แห่ง เกือบทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนใหญ่สามารถเปิดให้บริการตามปกติ โดยมี 6 แห่งใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ประสบปัญหาต้องปิดบริการ 2 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านบางใหญ่ ต.บางจาก, รพ.สต.บ้านช้าง ต.ท่าเรือ ที่เหลืออีก 4 แห่งเปิดบริการได้บางส่วน ได้แก่ รพ.สต.บ้านปากพญา ต.ท่าชัก อ.เมือง และอีก 3 แห่งที่ อ.หัวไทร ได้แก่ รพ.สต.เขาพังไกร ต.เขาพังไกร, รพ.สต.รามแก้ว ต.บ้านราม, รพ.สต.หน้าสตน ต.หน้าสตน
สำหรับโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว โดยสถานพยาบาลที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด สบส.ได้จัดส่งทีมวิศวกรเคลื่อนที่เร็วเข้าประเมิน และฟื้นฟูความเสียหายทั้งด้านอาคารและเครื่องมือแพทย์หลังน้ำลด เพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้เต็มศักยภาพต่อไป
นอกจากนี้ สบส.ได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ในพื้นที่ ดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงประสบภัยน้ำท่วม โดยเน้นหนักเป็นพิเศษใน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็ก, กลุ่มหญิงมีครรภ์, กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งทางกาย-ทางจิต และกลุ่มคนพิการ ว่ามีการนัดหมายพบแพทย์ หรือต้องรับยาในช่วงนี้หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดยาซึ่งอาจทำให้อาการกำเริบได้ เนื่องจากการเดินทางไม่สะดวก และยังให้ อสม.ออกให้ความรู้การดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม คือ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งพบที่ จ.นครศรีธรรมราช กว่า 1,600 ราย จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันโดยสวมรองเท้าบูทยางทุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำ และหลังขึ้นจากน้ำให้ล้างทำความสะอาดเท้า พร้อมเช็ดให้แห้งทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานจะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดบาดแผลจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และขอความร่วมมือประชาชนอย่าทิ้งขยะมูลฝอย ลงในน้ำท่วมขังเพราะจะเพิ่มความสกปรกให้น้ำ เกิดการเน่าเสียได้ง่าย ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และยุงรำคาญได้
- 3 views