สธ.จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล วิจัยและพัฒนาระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ทั้งโซ่อุปทาน เพื่อจัดทำโครงสร้างมาตรฐานบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (แห่งประเทศไทย) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบ และพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ และแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)ด้านสาธารณสุข รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย          

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานและระบบโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลสารสนเทศสำหรับข้อมูลขนาดใหญ่ ด้านสาธารณสุข สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยที่ยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิก จึงมีแนวคิดจัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการ โดยใช้ระบบคลังยาและเวชภัณฑ์ทั้งโซ่อุปทานหรือเครือข่ายโลจิสติกส์ มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัย ซึ่งเป็นการใช้ระบบของหน่วยงาน คน เทคโนโลยี กิจกรรม ข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากร มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการ จากผู้จัดหาไปยังลูกค้า

โดยตั้งเป้าศึกษาวิจัยและพัฒนา 6 ระบบ คือ 

1.ระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์  

2.ระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ เพื่อประยุกต์ใช้ในสถานบริการสุขภาพต่างๆ ของประเทศ 

3.ระบบศูนย์ข้อมูลยาและเวชภัณฑ์   

4.ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 

5.ระบบติดตามและสอบย้อนกลับ 

6.ระบบพัฒนากระบวนการโลจิสติกส์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล

นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาศูนย์ความเป็นเลิศฯ ได้สะสมองค์ความรู้ทางด้านการจัดการโซ่อุปทานสุขภาพ ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล มองเห็นถึงความสำคัญจึงได้สนับสนุนงบประมาณเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นคลังสมอง (Think Tank) ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพของประเทศ และใน ปี 2559 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้นำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง ซึ่งแผนงานวิจัยนี้ จะตอบสนองต่อนโยบาย/เป้าหมายรัฐบาล ด้านระบบโลจิสติกส์ประจำปี2559 ดังนั้นการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่ออกแบบดังกล่าวนี้ เพื่อพัฒนาโปรแกรมระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ยาและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาล ยังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพ (Medical HUB) ที่ประเทศไทยพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย