รพ.รามาธิบดีใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดแห่งแรกในไทย ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลังและเส้นประสาท เพิ่มความแม่นยำ ลดระยะเวลาผ่าตัด
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “รามาธิบดี กับความสำเร็จ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทย” ขึ้น ณ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในแนวทางการรักษาโรคที่สำคัญคือ การผ่าตัดรักษา นับแต่ในอดีตคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดรักษาโรคต่าง ๆ มามากมาย ซึ่งการผ่าตัดในแต่ละครั้งจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ความละเอียด รอบคอบ และความแม่นยำในการผ่าตัด
ดังนั้น ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้รักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งข้อมูลจากหน่วยเวชสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รายงานว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดด้วยโรคทางกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ฉะนั้น การนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้จึงมีความสำคัญ และนับว่าเป็นความสำเร็จของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่สามารถทำได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
ศ.นพ.วชิร คชการ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผ่าตัด ว่า ในปัจจุบันการผ่าตัดด้านประสาทศัลยศาสตร์ จำเป็นต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ และความแม่นยำของศัลยแพทย์เป็นอย่างมาก ประกอบกับการมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าไปมากมาช่วยในการผ่าตัดทางการแพทย์ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญแก่ศัลยแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัลยแพทย์ที่ต้องผ่าตัดผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จในการผ่าตัดได้นั้น ต้องอาศัยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของศัลยแพทย์เป็นอย่างมาก รวมทั้งการทำวิจัย ซึ่งภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดตั้งโครงการ “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์” เพื่อต้องการให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ ว่า การผ่าตัดโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังมีอัตราเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของกระดูกสันหลังในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ ได้แก่ ภาวะกระดูกสันหลังคดงอผิดปกติ ภาวะช่องไขสันหลังตีบแคบกดทับเส้นประสาทและไขสันหลังระดับเอวทำให้เดินลำบากในผู้สูงอายุ ทำให้มีโอกาสหกล้มได้ จนสามารถนำไปสู่ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง หรือกระดูกสะโพก กระดูกต้นขาหักทำให้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ เล็งเห็นโอกาสในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เส้นประสาทและไขสันหลัง จึงได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลัง เส้นประสาทและไขสันหลัง
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่กำลังกล่าวถึงนี้คือ หุ่นยนต์เรเนซอง (Renaissance Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาและสร้างขึ้นในประเทศอิสราเอล ซึ่งได้รับการยอมรับจาก USFDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยประสาทศัลยแพทย์ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังและสมอง โดยการนำมาใช้ประโยชน์ในระยะแรกจะเป็นการกำหนดเป้าและทิศทางการเดินทางของสกรูเพื่อการยึดตรึงกระดูกสันหลังเพื่อความแข็งแรง ไม่เคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็น โดยขั้นตอนการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้มี 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
1.หลังจากประสาทศัลยแพทย์ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้ว ทำการการถ่ายภาพกระดูกสันหลังด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในหุ่นยนต์เรเนซอง โดยประสาทศัลยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดและวางแผนการใส่สกรูที่กระดูกสันหลัง ถัดไปจะเป็นขั้นตอนในห้องผ่าตัด
2.ประสาทศัลยแพทย์จะทำการประกอบสะพานสำหรับหุ่นยนต์บนหลังของผู้ป่วย เพื่อทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้โดยกำหนดเป้าหมายและทิศทางการใส่สกรูไปยังกระดูกสันหลัง
3.กำหนดความแม่นยำของหุ่นยนต์ โดยโปรแกรมของหุ่นยนต์จะทำให้ถ่ายภาพกระดูกสันหลังด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นหุ่นยนต์จะกำหนดเป้าหมายและทิศทางการใส่สกรูไปยังกระดูกสันหลังอย่างแม่นยำ ซึ่งมีโอกาสในการคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร เท่านั้น
4.ขั้นตอนในการผ่าตัดโดยประสาทศัลยแพทย์ ซึ่งหุ่นยนต์จะมีหน้าที่ช่วยผ่าตัดให้เกิดความแม่นยำ และปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่สกรูผิดตำแหน่ง ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อไขสันหลังและเส้นประสาทได้ ข้อบ่งชี้ในการใช้งานหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้คือการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ต้องใส่สกรู การฉีดซีเมนต์เข้าสู่กระดูกสันหลังที่ทรุดตัว การตัดชิ้นเนื้อในกระดูกสันหลัง และการผ่าตัดสมอง
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงประโยชน์ของการผ่าตัดและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ว่า การนำหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดทางประสาทศัลยศาสตร์นั้นมีประโยชน์ถึง 5 ด้าน ได้แก่
1) ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง กระดูกสันหลัง เส้นประสาทและไขสันหลังจะได้รับประโยชน์สูงสุดในด้านความปลอดภัยและความแม่นยำจากการผ่าตัดสมอง กระดูกสันหลัง เส้นประสาทและไขสันหลัง
2) เพื่อผู้ป่วยยากไร้ได้มีโอกาสเข้าถึงการผ่าตัดสมอง กระดูกสันหลัง เส้นประสาทและไขสันหลังที่มีเทคโนโลยีสูง
3) ด้านการสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์โดย นักวิทยาศาสตร์, วิศวกรชีวการแพทย์ และประสาทศัลยแพทย์ไทย
4) ด้านการศึกษาและวิจัยสำหรับประสาทศัลยแพทย์ที่สนใจงานผ่าตัดที่ต้องใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
และ 5) ด้านศึกษาวิจัยร่วมกันสำหรับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรชีวการแพทย์ และแพทย์
การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาทางประสาทศัลยศาสตร์นั้น ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมเป็นหนึ่งที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ โดยทางภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในการดปิดรับบริจาคเพื่อสมทบทุนโครงการพัฒนาอาคารและจัดหาเครื่องมือแพทย์เพื่อผู้ป่วยยากไร้ ขึ้น ซึ่งสามารถติดต่อการบริจาคได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ โทร. 02-201-1111
- 222 views