บอร์ด สปสช.จัดแผนดูแลผู้ป่วยวัณโรคต่อเนื่องปี 60 บูรณาการร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ค้นหาและรักษา มุ่งลดผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 1.2 แสนราย/ปี หลังไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศมีปัญหาวัณโรคสูง
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นหนึ่งในสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย การที่วัณโรคกลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุข เพราะผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง สาเหตุจากอพยพย้ายถิ่น แรงงานเคลื่อนย้าย การแพร่ระบาดเอชไอวี ส่งผลให้วัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง สะท้อนถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง รวมถึงปัญหาวัณโรคดื้อยาจากการกินยาไม่ต่อเนื่อง ข้อมูลสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 120,000 รายต่อปี
ทั้งนี้เพื่อร่วมแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สปสช.ได้มีจัดบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรคอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายไม่เพียงแต่ลดอัตราป่วยและเสียชีวิตผู้ป่วยวัณโรค รวมถึงการลดผู้ติดเชื้อวัณโรครายใหม่
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2560 บอร์ด สปสช. โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 434.32 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยวัณโรค 83,453 ราย ครอบคลุมทั้งยารักษาวัณโรค การรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี การตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งการตรวจเสมหะและการถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจหาเชื้อวัณโรคดื้อยาและติดตามการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อวัณโรครายใหม่ได้
“หัวใจสำคัญของการลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ คือการรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หายขาดเพื่อลดการแพร่กระจายโรค ดังนั้นนอกจากการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยวัณโรคข้างต้น สปสช.ยังสนับสนุนการติดตามกินยาผู้ป่วยด้วยวิธี DOT (Directly Observed Treatment) ซึ่งเป็นวิธีติดตามการรักษาที่มีประสิทธิผล พร้อมกับสนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ทั้งกลุ่มผู้ร่วมสัมผัส กลุ่มเสี่ยง เพื่อนำเข้าสู่การรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งนี้รวมถึงผู้ต้อขังที่อยู่ในเรือนจำที่เป็นพื้นที่ง่ายต่อการแพร่กระจายโรค ซึ่งในปี 2559 สปสช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการคัดกรองใน 84 เรือนจำ ครอบคลุมผู้ต้องขังสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 104,616 คน” รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน พญ.สุชาดา ไชยวุฒิ ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนบริการเอดส์ วัณโรค และผู้ติดเชื้อ สปสช. กล่าวว่า การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดวัณโรคของไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่ง สปสช.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในปี 2559 สปสช.ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ TB Data Hub แบบ Case management และระบบรายงานเพื่อติดตามประเมินผลการให้บริการรักษาผู้ป่วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยบริการในการติดตามและรายงานข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในประเทศ
- 6 views