กระทรวงสาธารณสุข กำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการแพทย์ครบวงจร ยืนยันไม่ทอดทิ้งบุคลากร ดูแลช่วยเหลือทั้งไกล่เกลี่ย ดำเนินการชั้นศาล ดูแลจิตใจลดความวิตกกังวล หากแพ้คดี ถูกไล่เบี้ย หาเงินบริจาคช่วยในการจ่ายคืนกระทรวงการคลัง โดยบุคลากรอาจมีส่วนร่วมบางส่วนเท่านั้น แนะหากบุคลากรช่วยกันขอ ก.พ.ให้เพิ่มอัตราข้าราชการสาขาต่างๆ และสำนักงบประมาณจัดสรรงบจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลคดีทางการแพทย์ที่บุคลากรทางการแพทย์ถูกไล่เบี้ยจากกระทรวงการคลัง จากการรักษาพยาบาลหรือให้บริการสาธารณสุข จำนวน 5 คดี ซึ่งอาจทำให้บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน เกิดความสงสัยถึงเหตุผลที่แพทย์พยาบาลต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายหรือถูกไล่เบี้ย รวมทั้งการช่วยเหลือของกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยและต้องการช่วยเหลือทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาระบบบริการ การบริหารความเสี่ยงทางการแพทย์ การเจรจาไกล่เกลี่ย การต่อสู้คดี ตลอดจนการช่วยเหลือกรณีถูกไล่เบี้ย
“ขอยืนยันว่าไม่เคยทอดทิ้งบุคลากร เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นทุกโรงพยาบาลจะส่งเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเป็นนักเจรจาไกล่เกลี่ยพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ เมื่อได้รับฟังเหตุผลและเห็นความจริงใจของเจ้าหน้าที่ จึงเข้าใจดีว่าไม่มีใครต้องการให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย”
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความ การดำเนินการต่างๆ จะเป็นไปขั้นตอนตามกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขจะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเป็นทนายความสู้คดี ขอสนับสนุนพยานผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์และสภาวิชาชีพมาให้ความเห็นทางวิชาการในคดี และดูแลช่วยเหลือบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความกังวล และจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยในศาลอีก
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถูกฟ้อง 261 คดี กว่าครึ่งสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ ส่วนคดีที่ถึงที่สุด 47 คดี ชนะ 27 คดี แพ้ 20 คดี ซึ่งกรณีที่แพ้คดี จะมีการทบทวนสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และส่งกระทรวงการคลังพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ และเป็นผู้ชี้ขาดความรับผิดชอบทางแพ่ง กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจแก้ไขหรือตัดสินใจได้เอง ซึ่งส่วนใหญ่คดีที่ถูกไล่เบี้ย กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลที่เกิดเหตุไม่ได้ทอดทิ้ง จะหาเงินบริจาคช่วยในการจ่ายคืนกระทรวงการคลัง บุคลากรอาจมีส่วนร่วมบางส่วนเท่านั้น
“ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีผู้นำข้อมูลคดีทางการแพทย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผ่านมา 5-6 ปี การดำเนินการต่างๆ ทางกฎหมายก็ยุติลงแล้ว ขอให้กำลังใจบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ที่ทุ่มเททำงานในการดูแลสุขภาพประชาชนท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ และภาระงานที่มีมาก ขณะที่จำนวนบุคลากรในสถานพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ อาจนำไปสู่การฟ้องร้อง จึงขอให้พวกเราช่วยกันขอให้ ก.พ.เพิ่มอัตราข้าราชการสาขาต่างๆ และสำนักงบประมาณจัดสรรงบจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ต้องไม่ท้อถอย ทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ ให้ความสนใจ พูดคุยให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติอย่างเป็นมิตร จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งลงได้มาก” นพ.มรุต กล่าว
- 52 views