อดีตบอร์ด สปสช.ภาคประชาชน พูดชัด ต้นตอปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพคือประเทศไทยมีหลายกองทุน-นโยบายไม่ต่อเนื่อง ระบุ หากไม่ตกผลึกความคิดร่วมกัน ตั้งเขตสุขภาพไปก็ไร้ประโยชน์
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยในเวทีอภิปรายหัวข้อ “สิทธิประโยชน์หลัก: รูปแบบการกำกับเพื่อความยั่งยืน ด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า เหตุผลที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพต้องขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงบริการรักษาพยาบาล ยังมีการถูกเรียกเก็บค่ารักษา ยามีราคาแพง จำนวนเตียงไม่เพียงพอ มากไปกว่านั้นก็คือมีคนจำนวนมากในประเทศไทยที่ไม่รู้ว่าประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพ และไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิประโยชน์อะไรหากเกิดการเจ็บป่วยขึ้น
นายนิมิตร์ กล่าวว่า หากขมวดปัญหาทั้งหมดจะพบว่าต้นตอเกิดจากประเทศไทยมีหลายกองทุนสุขภาพ แต่ละกองทุนให้สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน มีความเหลื่อมล้ำในระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเล็งเห็นและจับอยู่
อย่างไรก็ตาม เวลาที่ได้ยินการขับเคลื่อนของหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดคณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board) หรือเขตสุขภาพ ส่วนตัวยังไม่ได้ยินว่าตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอะไร ฉะนั้นอาจต้องมานั่งคุยกันใหม่ว่าหากจะตั้งกลไกขึ้นใหม่จะมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร มิเช่นนั้นตั้งไปก็รู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีประโยชน์
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ของปัญหาในการขับเคลื่อนก็คือความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย เมื่อมีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการในชุดต่างๆ ก็มักจะไม่หยิบยกผลการศึกษาที่คณะกรรมการชุดก่อนดำเนินการไว้แล้วมาพิจารณาหรือดำเนินการต่อ แต่กลับไปเริ่มคิดกันใหม่ ทำกันใหม่ทั้งหมด
“อย่างคำว่าสิทธิประโยชน์หลัก ที่พูดกันเยอะว่าทุกกองทุนควรมีชุดสิทธิประโยชน์หลัก แต่กองทุนไหนอาจจะทำสิทธิประโยชน์เพิ่มหรือเติมเข้ามาได้ ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่น่าเศร้า เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการคุยกันและใช้คำว่าสิทธิประโยชน์ที่สำคัญและจำเป็น นั่นหมายความว่าอะไรที่เพิ่มเติมหลังจากนี้คือสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อเปลี่ยนคณะกรรมการกลับไปใช้คำว่าสิทธิประโยชน์หลัก กองทุนไหนรวยก็เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิเอง ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะนี่จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักของระบบหลักประกันสุขภาพที่ทุกคณะกรรมการอาจต้องมานั่งคุยกันจริงๆ ก็คือเรายอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพจริง แต่เราไม่เคยมีทางออก เราเคยได้ยินผู้นำประเทศมีแนวคิดว่าการดูแลระบบหลักประกันเป็นภาระของประเทศ คำถามคือคณะกรรมการมีแนวคิดหรือแนวทางในการทำงานกับผู้บริหารประเทศเพื่อให้เกิดทัศนคติใหม่ได้หรือไม่ มิเช่นนั้นถึงจะมีเขตสุขภาพหรืออะไรก็ไม่อาจตอบสนองกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประเทศ
“ถ้าเราไม่ตกผลึกร่วมกันก่อน สุดท้ายแล้วถ้ากรรมการชุดเก่าหมดวาระไป ก็จะต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่แบบเดิมอีก” นายนิมิตร์ กล่าว
- 3 views