มติทันตแพทยสภาขอยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมออกจาก กม.พลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่ เห็นด้วยเรื่องขึ้นทะเบียนเพื่อติดตามและกำกับแต่ให้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเดิมแทน และทันตแพทยสภาจะกำกับดูแลการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ตามมาตรฐานวิชาการ ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยตาม กม.วิชาชีพทันตกรรมเอง ยืนยันเป็นไปตามมาตรฐานสากล IAEA ภายใต้การกำกับของสภาวิชาชีพ
ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาในวันนี้ (10 พ.ย.59) มีวาระหารือทบทวนมติทันตแพทยสภากรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ในส่วนของเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมหรือเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรม หลังจากที่เคยมีข้อสรุปเบื้องต้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค.59 กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 3 ข้อ คือ
1.ให้มีการขึ้นทะเบียนเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมหรือเครื่องเอ็กซเรย์ทางทันตกรรม เพื่อประโยชน์ในการควบคุม การติดตามเพื่อความปลอดภัยในระดับชาติ
2.ทันตแพทย์สามารถทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) ได้ โดยไม่ต้องสอบ แต่ต้องขึ้นทะเบียนเป็น RSO ทุก 3 ปีกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
3.สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะทำเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานในการทำงานทางรังสี เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน
แต่เนื่องจากมีข้อมูลใหม่ ทันตแพทยสภาจึงได้หารือเพื่อทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า
1.ทันตแพทยสภาเห็นว่า ควรลงทะเบียนครอบครองเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบแต่เดิมเพื่อให้สามารถติดตามและดูแลความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้
2.ให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมตามมาตรา 25 ประกอบมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.นิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559
3.ทันตแพทยสภาจะดูแลในด้านทักษะ ความรู้ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมให้สามารถปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537
นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า ข้อเสนอให้ทันตแพทยสภาเป็นผู้กำกับดูแลเองตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 นั้น ไม่ขัดกับมาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่าสามารถทำได้ ในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ผู้เกี่ยวข้อง ประชาชนและสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน
“หน้าที่ของทันตแพทยสภานั้นยืนอยู่บนประโยชน์ของทันตแพทย์และประชาชน การไม่ขึ้นทะเบียนเป็น RSO กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มิได้หมายความว่า ทันตแพทย์จะให้การดูแลความปลอดภัยคนไข้ได้ด้อยลง แต่สภาวิชาชีพจะทำหน้าที่กำกับในเรื่องนี้ภายใต้กฎหมายของวิชาชีพ ขณะเดียวกันในหลักสูตรทันตแพทย์นั้นเรียนเกี่ยวกับเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรม 3-4 หน่วยกิตและยังมีภาคปฏิบัติอีก 3 หน่วยกิต เนื้อหาเป็น textbook ขนาดใหญ่ 1 เล่ม ขณะที่มาตรฐานของ IAEA ล่าสุดก็กำลังจะประกาศว่าทันตแพทย์สามารถใช้เครื่องเอ็กซเรย์ได้อย่างอิสระภายใต้การกำกับของสภาวิชาชีพ ดังนั้นข้อเสนอครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นข้อเสนอที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล” ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าว
- 6 views