ชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด เผยพบปลัด สธ.ร้องแก้ปัญหาความชัดเจนบทบาทหน้าที่ทันตาภิบาล หลังเป็นประเด็นร้อนโลกโซเซียล พร้อมขอผลักดันพัฒนา เพิ่มความก้าวหน้าวิชาชีพทันตาภิบาล หยุดปัญหาทันตภิบาลไหลออกจากระบบ ก่อนกระทบบริการ ปชช.พื้นที่ห่างไกล
นางอรุณวรรณ แม่หล่าย เลขาธิการชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด เปิดเผยถึงกรณีที่ชมรมทันตาภิบาล และตัวแทนทันตาภิบาลทั่วประเทศ ได้เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมาว่าเป็นการหารือถึงความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขหรือทันตาภิบาลที่สืบเนื่องจากประเด็นที่ปรากฎในโซเชียล รวมถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพของทันตาภิบาล เนื่องจากที่ผ่านมาทันตาภิบาลในระบบถูกผลิตหลายรุ่นและหลากหลายรูปแบบ และมีวัตถุประสงค์การผลิตที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ประชาชนผู้รับบริการเกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่
ทั้งนี้การผลิตทันตาภิบาลแยกออกเป็น 4 รุ่นด้วยกัน คือ ในรุ่นแรกๆ เป็นกลุ่มที่ให้บริการงานรักษา ตั้งแต่การตรวจฟัน การอุดและถอนฟัน การขูดหินปูน รวมถึงงานส่งเสริมป้องกันโรค ยกเว้นหัตถการที่ยาก อย่างการตรวจฟันคุด รักษารากฟัน การถอนฟันยาก และการทำฟันปลอม แต่ต้องเป็นการทำภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ภายใต้ระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข แต่พอในรุ่นที่ 2 จะเป็นการผลิตทันตาภิบาลที่เน้นทั้งการทำงานรักษาและส่งเสริมป้องกันไปพร้อมกันอย่างละ 50:50 และต่อมาในรุ่นที่ 3 เป็นทันตาภิบาลรุ่นเร่งผลิต โดยผู้ที่จบในรุ่นนี้จะเน้นไปที่งานส่งเสริมป้องกันเป็นหลัก และมีการตัดงานหน้าที่ถอนฟันออก ขณะที่รุ่นที่ 4 จะเป็นกลุ่มทันตาภิบาลที่เน้นไปที่งานส่งเสริมป้องกันและการทำงานด้านวิชาการเป็นหลัก
นางอรุณวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่จะคุ้นชินกับบทบาททันตาภิบาลในรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งรวมบทบาทให้บริการรักษาฟัน ซึ่งต้องยอมรับว่าการผลิตทันตาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยเรื่องการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เนื่องจากทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นคนในเมือง เมื่อใช้ทุนแล้วก็จะลาออกจากพื้นที่ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือทันตาภิบาลที่ถูกผลิตขึ้นในระบบกลับไม่มีการพัฒนา รวมถึงไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ย่ำอยู่กับที่ ส่งผลทันตาภิบาลหลายคนพยายามผันตัวเองไปทำงานด้านอื่นจนเกิดภาวะไหลออก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะมีการเปิดตำแหน่งทันตาภิบาลเพื่อให้เติบโตไปเป็นนักวิชาการสาธารณสุขได้ โดยมีวงเล็บด้านท้ายว่าทันตสาธารณสุข แต่การกำหนดตำแหน่งนี้ไม่มีในสารบบพัฒนากำลังคนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ส่งผลให้งานและบทบาททันตาภิบาลที่ขยับขึ้นสู่นักวิชาการสาธารณสุขไม่ชัดเจน โดยยังคงต้องทำงานทั้งในฐานะนักวิชาการและงานทันตภิบาล ขณะที่การทำหัตถการของนักวิชาการสาธารณสุข (ทันตาภิบาล) ไม่ได้ถูกคุ้มครองตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต้องถามว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่เพียงแต่กระทบต่อทันตาภิบาลในระบบ แต่ยังกระทบต่องานบริการประชาชน
นอกจากนี้ในแง่ของการคุ้มครองวิชาชีพทันตาภิบาล ต้องบอกว่าปัจจุบันทันตาภิบาลเป็นวิชาชีพที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น อย่างวิชาชีพพยาบาลหรือเวชกิจฉุกเฉิน ทั้งที่เป็นวิชาชีพที่ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์
“ปัญหาข้างต้นนี้ได้หารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งท่านได้มอบให้กลุ่มงานบริหารบุคคลกระทรวงสาธารณสุขดูว่าจะเสนอเรื่องนี้ต่อทาง อ.ก.พ.สธ.อย่างไร ทั้งในด้านการทำงานวิจัยและข้อมูลเพื่อสนับสนุนเพื่อให้ทันตาภิบาลสามารถพัฒนาและมีความก้าวหน้าในวิชาชีพในสายงานตนเองได้ รวมไปถึงการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้วิชาชีพทันตาภิบาลเดินต่อไปได้” เลขาธิการชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด กล่าวและว่า ทั้งนี้หากทำบทบาททันตาภิบาลให้มีความชัดเจน ทันตาภิบาลในฐานะผู้ให้บริการก็สบายใจ ส่วนประชาชนผู้รับบริการก็พอใจ
นางอรุณวรรณ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ชมรมฯ ได้เข้าหารือกับปลัด สธ.แล้ว คาดว่าหลังจากนี้จะมีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง โดยขณะนี้ทางคณะทำงานด้านกำลังคนสุขภาพช่องปากได้มีการเชิญทันตาภิบาลในพื้นที่ไปให้ข้อมูลซึ่งจะมีการประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้
- 78 views