สสส.เปิดตัวแคมเปญ “นับเราด้วยคน” สร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติที่สังคมมีต่อ “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” กลุ่มคนที่ถูกมองข้ามตัวตน ถูกลืม ขาดสิทธิขั้นพื้นฐาน มีช่องว่างในการเข้าถึงสุขภาวะ “ก้อง-สหรัถ” - “ชิ สุวิชาน” ร่วมถ่ายทอดบทเพลง “นับเราด้วยคน” เปิดใจให้โอกาสสร้างสังคมแบ่งปัน เดินหน้าจุดประกายมองมุมบวกคนไร้สถานะบุคคลเป็นกลุ่มแรก
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวแคมเปญนับเราด้วยคน พร้อมมิวสิควิดีโอเพลง “นับเราด้วยคน” เพื่อสื่อสารปรับทัศนคติที่สังคมมีต่อ “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” ขับร้องโดยคุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา นักร้อง และคุณชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) กล่าวว่า สสส. ได้ริเริ่มการจัดทำโครงการ “นับเราด้วยคน” ขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ว่ามีประชากรกลุ่มเฉพาะที่ถูกลืมและขาดสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงโอกาสและการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะอยู่ในสังคมเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กลุ่มคนพิการ, กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มแรงงาน, กลุ่มไร้สถานะ, กลุ่มสตรีผู้ต้องขัง, กลุ่มมุสลิมชายแดนใต้และกลุ่มคนไร้บ้าน ประชากรกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการถูกมองข้าม ไม่มีตัวตน ขาดการยอมรับจากสังคม
การสื่อสารผ่านแคมเปญนับเราด้วยคน จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เห็นการคงอยู่ การมีตัวตน และสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นทิศทางและเป้าหมายหลักของแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ บนฐานสังคมสวัสดิการ สังคมสัมมาชีพ และสังคมไร้การกีดกัน เพื่อลดความแตกต่างในการเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากร และการสนับสนุนทางสังคมและสุขภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพเพื่อดำรงชีพอย่างมีสุขภาวะ
ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า ภาคีเครือข่าย นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ สสส. ได้มีการประชุมระดมสมองร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการและประเด็นการสื่อสารที่สะท้อนปัญหาและความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของผู้คน การชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมในมิติต่างๆ ที่จะช่วยปรับทัศนคติให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจและตระหนักรู้การอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข โดยกำหนดแผนการสื่อสารอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยปีแรกเลือกประเด็นเร่งด่วนของการเข้าถึงบริการสุขภาพและสาธารณสุขมูลฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น และกลุ่มประชากรตามแนวชายแดน ประกอบกับความต้องการให้เกิดผลลัพธ์ที่วัดได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงมีข้อตกลงร่วมกันที่จะเน้นการสื่อสารผ่าน “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โครงการนี้จะเป็นตัวจุดประกายเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่สังคมมีต่อคนไร้สถานะ รับรู้ถึงความมีตัวตน และเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไร้สถานะให้เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น และยังส่งตอทัศนคติที่มีต่อกลุ่มประชากรเฉพาะในภาพรวมต่อไปในอนาคต เพื่อสนับสนุนให้คนไร้สถานะได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหว และรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊ก “นับเราด้วยคน” https://www.facebook.com/นับเราด้วยคน
- 35 views