กรมควบคุมโรค แนะประชาชนดูแลตนเองและคนรอบข้าง “หากมีอาการป่วย ต้องใส่หน้ากากอนามัย” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เดือนตุลาคมเพียงครึ่งเดือนป่วยแล้วเกือบ 1 หมื่นราย ชี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีจำนวนสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ถึง 2 เท่า 3 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ เชียงใหม่
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ในหลายพื้นที่เริ่มเย็นลงและบางพื้นที่ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่วนในช่วงกลางวันก็มีอากาศร้อนอบอ้าว ประกอบกับความชื้นและความหนาวเย็นจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ที่มักมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงอากาศเปลี้ยนแปลงนี้ ซึ่งมีประชาชนที่มาอยู่รวมกันจำนวนมาก อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยและติดต่อกันได้ง่ายกว่าช่วงปกติ
จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–17 ตุลาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 123,564 ราย เสียชีวิต 22 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อายุแรกเกิด-4 ปี (อัตราป่วย 715.17 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ 5–9 ปี และ 10–14 ปี ตามลำดับ เฉพาะวันที่ 1–18 ตุลาคม 2559 มีจำนวนผู้ป่วยแล้ว 9,176 ราย ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีจำนวนสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ถึง 2 เท่า
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อัตราป่วย 646.59 ต่อประชากรแสนคน มีผู้ป่วยจำนวน 36,806 ราย รองลงมาคืออุตรดิตถ์และเชียงใหม่ มีอัตราป่วย 494.57 และ 492.41 ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A (H1N1) , A (H3N2) และสายพันธุ์ B ยืนยันไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า โรคไข้หวัดใหญ่นั้น ติดต่อจากการไอ จามรดกัน อาการจะเริ่มด้วยมีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาลงและสามารถหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีประชาชนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก ขอให้ผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มากควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วันนับจากวันเริ่มป่วยหรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน และไม่ควรเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมกับคนหมู่มาก แต่หากจําเป็นต้องเข้าร่วมงาน ให้รับผิดชอบตนเองและสังคม โดยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือบ่อยๆ ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน ควรหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อดังกล่าวได้ ส่วนการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น จะสามารถป้องกันโรคได้ 60-70 % ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพราะจะป้องกันความรุนแรงจากอาการแทรกซ้อนได้
ส่วนประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรม ควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เช่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ หากมีอาการไอจาม ให้ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าปิดปากปิดจมูก หากไม่มีหรือหยิบไม่ทันไม่ควรใช้มือป้องจมูกปาก เพราะเชื้อจะติดอยู่ที่มือแล้วจะไปเปรอะเปื้อนตามสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ให้ไอจามใส่แขนเสื้อแทน ซึ่งจะช่วยลดการกระจายเชื้อได้ดี สำหรับการสวมหน้ากากอนามัยจะเป็นประโยชน์มาก หากผู้ที่มีอาการป่วยเป็นผู้สวม เพราะจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเวลาไอจามได้ดี ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการป่วยโดยทั่วไปไม่จําเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่อาจจะได้ประโยชน์จากการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่เข้าไปอยู่ในที่แออัดที่อาจจะมีผู้เป็นไข้หวัดใหญ่อยู่ด้วย
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 3 views