“นิมิตร์” เชื่อ ต้องสร้างความสุขร่วมระหว่างผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการ-ผู้จัดบริการ ถึงจะร่วมมืออย่างยั่งยืนได้ ระบุ กองทุนสุขภาพต้องกล้าต่อรอง “สำนักงบ-รัฐบาล” ขอเงินให้เพียงพอ ตั้งคำถามประเทศไทยถึงเวลาควบรวมเป็นระบบเดียวแล้วหรือยัง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “เสริมประสาน ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า หากต้องการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ รวมถึงผู้ที่จัดการระบบหลักประกันต้องมีความสุขร่วมกันก่อน
นายนิมิตร์ กล่าวว่า หากถามว่าแล้วผู้ใช้บริการจะมีความสุขได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าจะต้องให้ผู้ใช้บริการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดบริการทั้งการรักษาและส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อที่จะได้รับบริการที่เหมาะสม มีคุณภาพกับสภาพความเจ็บป่วย ที่สำคัญคือหากมีการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลจริง ต้องเก็บจากประชาชนทุกคนในทุกระบบประกันสุขภาพเท่านั้น
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ให้การรักษาถ้าจะมีความสุขก็ต้องได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอและเป็นธรรม ปริมาณงานต้องพอเหมาะสมตามสมควร ไม่มากจนเกิดความเสี่ยงเรื่องความผิดพลาดในการให้บริการ รวมทั้งควรมีระบบการสนับสนุนที่ดีให้กับผู้ให้บริการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ เครื่องมือ หรือโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพการงาน
สำหรับความสุขของผู้จัดระบบหลักประกันสุขภาพ ประเด็นอยู่ที่จะมีงบประมาณไปจัดสรรให้หน่วยบริการให้เพียงพอได้อย่างไร ซึ่งจากผลการศึกษาหลายชิ้นก็ชัดเจนว่าปัญหาอยู่ที่จำนวนเม็ดเงินที่ไม่เพียงพอ
“คำว่ามีงบประมาณที่เพียงพอ เราอาจต้องดูภาพรวมทั้งประเทศทุกระบบ ซึ่งปัจจุบันใช้อยู่ประมาณ 2 แสนกว่าล้าน ซึ่งเมื่อแบ่งออกเป็นรายกองทุนก็จะไม่เท่ากัน ฉะนั้นคนที่จัดการระบบหลักประกันสุขภาพก็จะต้องมีงบที่เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่คิดแต่จะให้ร่วมจ่ายเพียงอย่างเดียว”นายนิมิตร์ กล่าว
อดีตบอร์ด สปสช. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องจัดทำระบบการกำกับ และระบบข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ เช่น กรณีค่าใช้จ่ายกองทุนสวัสดิการข้าราชการที่มากจนมีแนวคิดจะเอาบริษัทประกันเอกชนเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า คนที่เป็นผู้จัดระบบหลักประกันสุขภาพ ต้องเป็นกลไกหรือองค์กรที่เข้าใจปัญหาหรือหัวอกหัวใจของผู้ให้บริการ และเข้าใจประชาชน สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องเป็นคนที่ยืนอยู่ตรงกลางและเห็นทั้งสองฝั่ง
“เมื่อไรก็ตามที่เห็นอยู่ฝ่ายเดียว เช่น มีเงินแค่นี้ก็จะจ่ายแค่นี้โดยไม่สนใจผู้ให้บริการ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา ที่สำคัญคือผู้จัดการระบบไม่ว่าจะเป็นกองทุนใดจะต้องมีความกล้าหาญที่จะส่งเสียงบอกกับรัฐบาลว่างบไม่พอ การจัดสรรของรัฐบาลไม่เป็นธรรม หรือมีรากเหง้าของปัญหามาอย่างไร และต้องมีความสามารถพอในการต่อรองกับสำนักงบประมาณ ไม่ใช่เป็นลูกไล่ให้สำนักงบไล่บี้จนได้งบประมาณบ้าง ไม่ได้บ้าง”นายนิมิตร์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหลายระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ยังไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะพูดว่าปัญหาอาจเป็นเพราะเรามีหลายระบบสุขภาพ และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่ประชาชนกลับมองว่าการมีหลายระบบเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งแตกต่างกับจุดยืนของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และคิดว่าควรมาพูดกันว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะมีระบบสุขภาพระบบเดียว
- 4 views