“หมอปิยะสกล” เปิดประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 2 : ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม และการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 แนะใช้กลยุทธ์ความเป็นเลิศ 4 ด้าน ทั้งความเป็นเลิศส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษา บุคลากรทางการแพทย์ และระบบข้อมูลสุขภาพ สร้างความยั่งยืนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 2 : ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม และการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายหน่วยงานร่วม 1,000 คน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการสุขภาพ ผู้รับบริการ กองทุนระบบสุขภาพต่างๆ นักวิชาการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อร่วมหาแนวทางทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างในหลายประเทศ ให้เป็นระบบที่มีประสิทธภาพยิ่งขึ้น มีความเป็นธรรมและยั่งยืน แม้ว่าตลอดช่วง 14 ปีของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ด้วยสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำเป็นต้องร่วมกันประคับประคองเพื่อให้เดินหน้าไปได้
ทั้งนี้เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขคือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข หมายความว่าการที่ประชาชนมีสุขภาพที่ดีแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะต้องมีความสุขด้วย หากเจ้าหน้าที่ไม่มีความสุขก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ประชาชนสุขภาพดีได้ ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดความสมดุล โดยใช้กลยุทธ์สู่ความเป็นเลิศ 4 ด้าน เพื่อดำเนินงาน คือ
1.ความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรค นับเป็นหัวใจสำคัญของระบบสุขภาพของประเทศ หากประชาชนสุขภาพไม่ดี และต้องมุ่งรักษาอย่างเดียว การดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคงไม่มีทางประสบผลสำเร็จ ปีงบประมาณ 2560 นี้ จึงต้องวางรากฐานด้านสุขภาพให้มั่นคงและแข็งแกร่ง ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารต่อจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยต้องให้เกิดการดูแลประชากรทุกกลุ่ม แต่ปีนี้จะเน้นไปที่นโยบายดูแลเด็ก 0-5 ปี เริ่มดูแลตั้งแต่ในครรภ์ทั้งทารกและมารดา เนื่องจากจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
2.ความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลขณะนี้ให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจึงได้เดินหน้านโยบายหมอครอบครัว โดย สปสช.ให้การสนับสนุน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้มีหมอครอบครัว 3 ทีมต่อประชากร 30,000 คน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าจากนี้ ประชาชนจะได้รับการดูแลจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทุกคน
3.ความเป็นเลิศด้านบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ได้รับการดูแลรักษาที่ดี มีการส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อได้นั้น บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง
4.ความเป็นเลิศด้านระบบข้อมูลสุขภาพ ต้องมีความกระจ่างชัดเจนและตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดระบบฐานข้อมูลด้านระบบสุขภาพที่ดี ส่งผลให้เมื่อที่จะมีการดำเนินนโยบายใด ข้อมูลที่มีจึงยังขาดความชัดเจนในการสนับสนุน ซึ่งประเทศไทยไม่ร่ำรวย ทั้งยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วมาก ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับคนไทย
“สิ่งที่อยากให้แนวทางชัดเจน ในการแบ่งเป็นผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการ เพราะต้องการให้เกิดการต่อรองเพื่อประโยชน์ประชาชน โดย สปสช.ทำหน้าที่ต่อรองจัดซื้อเพื่อให้ประชาชนได้สิ่งที่ดีที่สุด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเองก็ต่อรองเพื่อให้ประโยชน์สู่ประชาชนมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ทั้งจากการดำเนินงานคณะกรรมการ 7 คูณ 7 และคณะกรรมการ 5 คูณ 5 หรือแม้แต่ในบอร์ด สปสช.มีการพูดคุยกันมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานตระกูล ส.ทั้งหลายทำหน้าที่วิจัยเพื่อเสริมการพัฒนาระบบสุขภาพประเทศ ทั้งหมดนี้จะทำให้ระบบสุขภาพของประเทศก้าวไปข้างหน้าเพื่อสู่ความยั่งยืน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
- 16 views