กรมการแพทย์นำทีมหมอ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคคุกคามต่อชีวิต ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องใช้เวลารักษายาวนานและมีค่าใช้จ่ายสูง เน้นการดูแลรักษาครอบคลุม 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย
วันนี้ (7 ตุลาคม 2559) ที่สถาบันประสาทวิทยา นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันดูแลผู้ป่วยประคับประคองและระยะสุดท้ายโลก “World Hospice and Palliative care day 2016” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบอัตราการเสียชีวิต การรักษาโรคที่ไม่หายขาดของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องใช้เวลารักษายาวนานและมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งต้องเผชิญกับความเจ็บปวดขณะเกิดโรค ส่งผลให้ผู้ป่วยเรื้อรังที่อยู่ในระยะสุดท้ายต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงเพื่อพยุงชีวิต ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
กรมการแพทย์จึงได้บูรณาการรูปแบบการดูแลผู้ป่วยประคับประคองโดยเน้นการรักษาครอบคลุม 4 มิติ คือ ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ได้แก่
กิจกรรมการดูแลรักษาทางร่างกาย การดูแลผู้ป่วยด้วยโภชนศาสตร์ และเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น การบรรเทาปวดโดยใช้ยาระงับปวดเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทรมาน การป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วย การจำกัดกิจกรรมและให้ความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เช่น การลุกเดิน การเข้าห้องน้ำ รวมทั้งให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ
กิจกรรมการดูแลรักษาทางจิตใจ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและปฎิเสธการรักษา โกรธ รับตัวเองไม่ได้ ถึงขั้นซึมเศร้า แพทย์และพยาบาลจะต้องให้เวลากับผู้ป่วย เข้าใจ เห็นใจ รับฟังปัญหาของผู้ป่วย รวมถึงให้ญาติและเพื่อน เข้ามามีส่วนร่วมให้กำลังใจ
กิจกรรมทางด้านสังคม ให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมกับญาติ ครอบครัว เพื่อนๆ เพื่อให้กำลังใจระหว่างกัน
กิจกรรมการดูแลรักษาทางด้านจิตวิญญาณ มีการปฎิบัติกิจกรรมทางศาสนา เช่น เปิดเทปและอ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ทุกวันพระร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ มีการจัดสิ่งแวดล้อมให้คล้ายบ้านหรือสิ่งที่ผู้ป่วยมีความคุ้นเคย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ดูแลอย่างเป็นขั้นตอน เสริมสร้างคุณภาพทางร่างกายให้แข็งแรง และมีความสุขในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไป
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในวันดูแลผู้ป่วยประคับประคองและระยะสุดท้ายโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2559 กรมการแพทย์ จึงได้จัดประชุม “World Hospice and Palliative care day 2016” ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในและนอกสังกัดกรมการแพทย์ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชน จำนวน 250 คน เพื่อกระตุ้นเตือนให้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและระยะสุดท้าย ตลอดจนให้ความรู้แก่ประชาชน ให้สามารถดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถเผชิญกับปัญหาและรับมือกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะเวลาที่เหลือต่อไป
- 243 views