ครม.เห็นชอบระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งเขตสุขภาพประชาชน ให้มี คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนใน 13 เขต ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ยุทธศาสตร์ และดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ ประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อน พร้อมให้คำปรึกษาการดำเนินงานสุขภาพในเขตพื้นที่ต่อหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน   ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. .... ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้

ขั้นตอนหลังจากที่เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามแล้วจะมีการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. ....  ดังนี้

กำหนดให้ในแต่ละเขตสุภาพเพื่อประชาชน ให้มีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “กขป.” เพื่อรับผิดชอบในการดูแลประสานงาน และสนับสนุนให้มีการบูรณาการเกี่ยวกับระบบสุขภาพในพื้นที่

กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 1 ถึงเขตพื้นที่ 12 และองค์ประกอบของ กขป. เขตพื้นที่ 13 ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะประกอบด้วยกรรมการผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ และกรรมการภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้ง โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของ กขป. เขตพื้นที่ 1 ถึงเขตพื้นที่ 12 และให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของ กขป. เขตพื้นที่ 13 โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เลขานุการร่วมในแต่ละเขตพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กขป.

กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการสรรหา คัดเลือก หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการใน กขป.ตามระเบียบนี้ โดยกำหนดแนวทางเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการในแต่ละประเภท

กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กขป. ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ และกรรมการภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

กำหนดให้ กขป. มีอำนาจหน้าที่กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาเกี่ยวกับระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ ดำเนินการหรือประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ตลอดจนเสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสุขภาพในเขตพื้นที่ต่อหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมและจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ทั้งนี้ การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด 

กำหนดให้ค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง หรือประโยชน์ตอบแทนอื่นของ กขป.ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด

สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ กขป.ให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด

กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กำหนดแนวทางและวิธีการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน โดยจัดให้มีการติดตามและประเมินผลอย่างน้อยทุก 2 ปี และรายงานผลการประเมินต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะให้ทราบโดยทั่วกัน