กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ แรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการจัดระบบแรงงานข้ามชาติในปีนั้นๆ เป็นประจำทุกปี และประกาศใช้คราวละ 1 ปี ทั้งนี้ มาตรการและแนวทาง ในแต่ละปีมีการปรับเปลี่ยนไม่มากนักจนมีความเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2556 ดังนี้
ปี พ.ศ. 2544 ดำเนินการตรวจและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบเป็นปีแรก
ปี พ.ศ. 2548-49 ขยายขอบข่ายของการตรวจและประกันสุขภาพในแรงงานข้ามชาติ ไปยังผู้ติดตามและครอบครัวตามความสมัครใจโดยต้องตรวจสุขภาพด้วย
ปี พ.ศ. 2550 ประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก แต่สำหรับผู้ติดตามและครอบครัวให้สถานบริการสุขภาพพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ดังนั้น การดำเนินการขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัดที่จะเปิดรับประกันสุขภาพผู้ติดตามและครอบครัวเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีไม่มีความชัดเจนในสิทธิอาศัยอยู่ของคนกลุ่มนี้
ปี พ.ศ. 2551 ประกันสุขภาพสามารถทำได้ในแรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม และครอบครัว ทั้งที่ได้รับการผ่อนผันและไม่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่การรับประกันหรือไม่ยังคงขึ้นอยู่กับหน่วยบริการสุขภาพเป็นหลัก
ปี พ.ศ. 2552-53 ประกันสุขภาพทำได้ในแรงงานข้ามชาติที่ต่อทะเบียนแรงงาน และจดทะเบียนใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่มีความชัดเจนว่าไม่รวมถึงผู้ติดตามและครอบครัว
ปี พ.ศ. 2554 ประกันสุขภาพในแรงงานข้ามชาติทั้งที่ต่อทะเบียนและขึ้นทะเบียนใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นบุตรที่อายุไม่เกิน 15 ปีโดยสมัครใจโดยไม่รวมผู้ติดตามประเภทอื่นๆ
ปี พ.ศ. 2556 ประกันสุขภาพคนข้ามชาติทุกคนซึ่งครอบคลุมถึง ผู้ติดตามและครอบครัวโดยสมัครใจ โดยมีการแยกอัตราค่าทำประกันสุขภาพเป็นคนข้ามชาติทั่วไป และเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี และขยายชุดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมถึงการบริการ ARV แต่มีการเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายจากเดิม 1,900 บาท เป็น 2,800 บาท
หากพิจารณาตามแนวทางของการให้ประกันสุขภาพสำหรับคนข้ามชาติในประเทศไทยจะพบว่า ในระยะแรกๆ ของการประกันสุขภาพ คือในระหว่างปี พ.ศ. 2548-2551 กระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามที่จะขยายขอบข่ายของการเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรข้ามชาติให้มากที่สุดตามหลักการของสุขภาพถ้วนหน้า คือ แรงงาน ผู้ติดตาม และครอบครัว โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการบริหารจัดการภายในของส่วนกลาง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มที่จะดำเนินงานด้านการประกันสุขภาพตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการบริหารแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เป็นหลัก
กล่าวคือ รับผิดชอบประกันสุขภาพเฉพาะแรงงานข้ามชาติและบุตรที่อายุไม่เกิน 15 ปีเท่านั้น สำหรับแรงงานข้ามชาติตามมาตรา 9 ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศที่พิสูจน์สัญชาติและได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือ ที่นำเข้าจากประเทศต้นทางและมีหนังสือเดินทางกำหนดไว้ว่าให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยมีการสมทบในรูปแบบเดียวกันกับการประกันสังคมของแรงงานไทย กล่าวคือ มีการจ่ายเงินสมทบจาก 3 ส่วนคือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง สำหรับแรงงานในกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายประเภทอาชีพที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ เช่น แรงงานในภาคธุรกิจประมง แรงงานในภาคเกษตรกรรม ให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพรายปีเช่นเดิม
นับตั้งแต่มีข้อบังคับให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม พบว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมมีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประกันสุขภาพภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ยังไม่พบปัญหาที่ชัดเจนนัก ต่อมาเมื่อมีแรงงานเข้าสู่ระบบพิสูจน์สัญชาติมากขึ้นในปี พ.ศ. 2554 พบว่า มีนายจ้างจำนวนมากไม่ยื่นเรื่องลูกจ้างข้ามชาติต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายสมทบ อีกทั้งแรงงานเองรู้สึกว่าต้องจ่ายเงินสมทบจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าการจ่ายเพื่อซื้อประกันสุขภาพเพื่อให้ได้ประกันสุขภาพในแต่ละปี ทำให้หลายจังหวัดเกิดปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่มีประกันสุขภาพใดๆ
นอกจากนี้ การประกันสุขภาพในสิทธิประโยชน์ของสำนักงานประกันสังคม ครอบคลุมแต่เฉพาะการรักษาพยาบาล แต่ไม่ครอบคลุมบริการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมโรคด้วย กลายเป็นความไม่ครอบคลุมในการให้บริการด้านสุขภาพ
ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 มกราคม ปี พ.ศ. 2556 อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการที่ให้การดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนข้ามชาติทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยคนข้ามชาติกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกมาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนข้ามชาติ ปี 2556 ลงวันที่ 13 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2556 ที่ขยายกลุ่มเป้าหมายมาสู่คนข้ามชาติทุกสัญชาติ รวมถึงครอบครัวและผู้ติดตาม มีการขยายชุดสิทธิประโยชน์ในการให้บริการ ARV แก่ผู้ป่วยข้ามชาติ รวมถึงขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้คนข้ามชาติทุกคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ โดยมีอัตราการประกัน 2 ส่วนคือคนข้ามชาติวทั่วไป และเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี แต่การปรับเพิ่มอัตราค่าประกันขึ้นอีก 900 บาทนั้น โดยไม่มีข้อบังคับในการซื้อประกันสุขภาพเช่นเดียวกับระบบประกันสังคมนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาการที่คนข้ามชาติไม่สมัครใจในการซื้อบัตรประกันสุขภาพ ในขณะที่หน่วยบริการด้านสุขภาพต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแก่ผู้ป่วยข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ และไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ป่วยได้
ปีพ.ศ. 2557 แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องมีหลักประกันสุขภาพ และต้องผ่านการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ส่วนการบริการด้านการรักษาพยาบาล การบริการสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคและการเฝ้าระวังโรค ให้เป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานในปี 2556 และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแนวทางการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนข้ามชาติ ขึ้น จำนวน 2 ฉบับ สาระสำคัญดังนี้
ฉบับที่ 1 เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 ลงวันที่25 มิถุนายน 2557 ให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัว และตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติประกอบกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 73/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขจึงออกมาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2557 ดังนี้
ข้อ 1 ให้กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โดยมีอัตราค่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ดังนี้
1) กลุ่มแรงงานข้ามชาติสัญชาติลาว กัมพูชา เมียนมาร์ รวมผู้ติดตาม บัตรประกันสุขภาพคุ้มครอง 1 ปี ราคา 2,100 บาท
ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ คนละ 1,600 บาท
2) กลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ บัตรประกันสุขภาพคุ้มครอง 1 ปี ราคา 365 บาท
- ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ
- ค่าบัตรประกันสุขภาพ คนละ 365 บาท
3) กลุ่มอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพคนข้ามชาติ
ฉบับที่ 2 เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพิ่มเติมกรณีการได้รับใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 สาระสำคัญดังนี้
1. อัตราค่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ สัญชาติลาว กัมพูชา เมียนมาร์ รวมผู้ติดตาม
1) บัตรประกันสุขภาพคุ้มครอง 3 เดือน ราคา 1,000 บาท ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ คนละ 500 บาท
2) บัตรประกันสุขภาพคุ้มครอง 6 เดือน ราคา 1,400 บาท ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ คนละ 900 บาท
2. ในการลงทะเบียนเพื่อออกบัตรประกันสุขภาพ ให้มีเอกสาร/หลักฐาน อย่างหนึ่งอย่างในของราชการที่แสดงการได้รับใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
3. ในกรณีที่บัตรหมดอายุ ให้สามารถชื้อบัตรใหม่ตามข้อ 1) โดยใช้ใบรับรองแพทย์เดิม แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี
4. ให้หน่วยบริการ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ กระทรวงสาธารณสุขปี 2557 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้
อ้างอิง
พงศธร พอกเพิ่มดี. (2554). การให้สิทธิ์ (คืนสิทธิ์) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์: ความสำเร็จอีกขั้นของระบบหลักประกันสุขภาพไทย. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข. 5(1) ม.ค.-มี.ค. 2554.
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (2556) เรื่องการตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี. ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556
มาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวกระทรวงสาธารณสุขปี 2557
- 535 views