คณะทำงานพัฒนาแนวทางการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตรในกลุ่มประชากรข้ามชาติ เผยผลสำรวจการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าว ลงวันที่ 30 มีนาคม 2558 จะเห็นว่ายังมีข้อจำกัดในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนข้ามชาติทั่วไปที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงประกันสุขภาพอยู่ค่อนข้างมาก โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก
- การทำความเข้าใจในการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต่อสถานพยาบาลรวมทั้งการบริหารจัดการระหว่างหน่วยงานในระดับนโยบายและสถานพยาบาลไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ไม่เกิดการดำเนินงานจริงในพื้นที่
- สถานพยาบาลมีความเข้าใจต่อนโยบายการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าวที่แตกต่างกัน ทำให้การดำเนินการในแต่ละพื้นที่มีลักษณะที่แตกต่างกันจนมีแนวโน้มที่จะให้การดำเนินการประกันสุขภาพกลายเป็นนโยบายแต่ละที่ของผู้บริหารในแต่ละสถานพยาบาลไป
- สถานพยาบาลไม่มั่นใจในแนวทางการจัดการตามนโยบาย การเข้าใจนโยบายที่แตกต่างกัน รวมทั้งการยังมีทัศนคติในการดำเนินการตามนโยบายที่ยังอิงกับมาตรการแบบเดิม
- สถานพยาบาลยังคงมีแนวคิดที่จะผูกโยงการประกันสุขภาพกับระบบการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติดังที่เคยปฏิบัติกันมา
- สถานพยาบาลไม่มีความมั่นใจในระบบประกันสุขภาพในแบบที่สมัครใจทำประกันในกลุ่มคนข้ามชาติ และมองเห็นว่าอาจจะเป็นความเสี่ยงทางงบประมาณของสถานพยาบาลได้
- สถานพยาบาลไม่มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์ หรือการทำความเข้าใจกับกลุ่มประชากรข้ามชาติให้เห็นความสำคัญของการทำประกันสุขภาพไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่รับรู้ข้อมูล
- ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่มีความไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นความสำคัญของการทำประกันสุขภาพ ก็ไม่มีการจัดทำประกันสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติด้วย
- ขาดการติดตาม ประเมินผลในทางนโยบาย
- ขาดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในเรื่องนโยบาย การบริหารจัดการและการประสานงานกับสถานพยาบาลในเรื่องประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ทำให้เกิดความสับสนในการประสานงาน รวมทั้งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนานโยบายที่สอดคล้องกับการดำเนินการประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ และการวางแผนในการจัดการในระยะยาว
คณะทำงานพัฒนาแนวทางการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตรในกลุ่มประชากรข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอต่อการบริหารจัดการ การตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพคนต่างด้าว ดังนี้
ระบบการบริหารจัดการ
1. กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบโดยตรงและจัดให้มีหน่วยบริหารกลางที่ชัดเจน เพื่อการจัดการและแก้ไขปัญหาที่มีคุณภาพ
2. ให้บริการสุขภาพประชากรข้ามชาติต้องมุ่งเน้นการบริการที่มีคุณภาพ และระบบการให้บริการสุขภาพประชากรข้ามชาติ โดยเทียบเท่ากับระบบ สปสช.
3. กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการจัดทำแผนงบประมาณในการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในแต่ละปี ให้ชัดเจน
4. ให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอเรื่อง ให้ ครม.มีมติให้หน่วยบริการสุขภาพ สามารถจัดจ้างพนักงานสาธารณสุขต่างชาติ (พสต.)ได้ โดยให้ใช้อำนาจตาม ม.9 และ ม.13 โดยการออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยอาชีพที่สามารถจัดจ้างได้ ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2551
5. กระทรวงสาธารณสุข ต้องนิยามความหมายของพนักงานสาธารณสุขต่างชาติ (พสต.) ให้ชัดและสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ประชากรต่างด้าวของกระทรวง
6. ให้กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระเบียบการจัดจ้าง พสต. เพื่อกำหนดแนวทางการจัดจ้างและการใช้เงินประกันสุขภาพในการจัดจ้าง พสต.ในหน่วยบริการ
การเข้าถึงข้อมูล
1. จัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในเรื่องประกันสุขภาพในกลุ่มแรงานข้ามชาติและคนข้ามชาติ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานบริการด้านสุขภาพและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่
2. จัดทำเอกสารเผยแพร่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ
3. จัดอบรม พสต. อสต. และแกนนำชุมชนในเรื่องการประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ
การเข้าถึงการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ
1. กระทรวงสาธารณสุข ต้องระบุกลุ่มประชากรเป้าหมายให้ชัด คือ บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย (ที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและผู้ติดตาม) ยกเว้นบางกลุ่มประชากรตามที่ประกาศในกฎกระทรวง
2. กระทรวงสาธารณสุขจะต้องกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องการดำเนินการขายประกันสุขภาพทั้งในเรื่องเอกสารที่ใช้ วิธีการดำเนินการ เป็นต้น
3. มีมาตรการติดตามบังคับให้สถานพยาบาลขายประกันสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติทุกคน รวมทั้งมีระบบติดตามประเมินการขายประกันสุขภาพร่วมกัน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชน อีกทั้งมีแนวทางการจัดระบบรับแจ้ง กรณีการเข้าถึงไม่ประกันสุขภาพและการบริการประกันสุขภาพจากแรงงานข้ามชาติ
4. ในกรณีแรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่นอกเหนือจากการขึ้นทะเบียนที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จและไม่เข้าประกันสังคม ควรมีการเปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถซื้อประกันสุขภาพด้วยตนเอง เพื่อป้องกันนายจ้างที่ไม่ต้องการทำประกันสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติ
5. จะต้องจัดให้มีล่ามหรือแนวทางอื่น ๆ ที่จะช่วยในการสื่อสารระหว่างแรงงานข้ามชาติและสถานพยาบาลในการจัดทำประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ และคนข้ามชาติ
6. พิจารณาการจัดทำประกันสุขภาพในกลุ่มเด็กผู้ติดตามในช่วงอายุมากกว่า 7 ปี โดยควรให้มีค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับความสามารถในการซื้อประกันสุขภาพของกลุ่มผู้ติดตามด้วย
หมายเหตุ คณะทำงานพัฒนาแนวทางการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตรในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ประกอบไปด้วย มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนทำงานด้านประชากรข้ามชาติและเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและระดมความคิดเห็นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และสถานพยาบาล ที่ให้บริการการจัดทำประกันสุขภาพและตรวจสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คนข้ามชาติและผู้ติดตาม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าว ลงวันที่ 30 มีนาคม 2558 โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มข้น ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ตราด เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี รวมทั้ง จัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อเรื่องระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โดยมีตัวแทนทั้งจากแรงงาน ข้ามชาติ ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่สถานพยาบาล และองค์กรพัฒนาเอกชน
- 29 views