หนุนเด็กข้ามชาติเข้าสู่ระบบการศึกษา ช่วยป้องกันปัญหาสังคมสังคมอาเซียน

นางอธิตา ออร์เรลล์ ผู้ประสานงานองค์การ World Education กล่าวว่า ในปัจจุบันมีตัวเลขประมาณการของเด็กข้ามชาติประมาณ 200,000-400,000 คน  ซึ่งแบ่งเป็นเด็ก 3 กลุ่ม ได้แก่

1.ลูกของแรงงานต่างด้าวที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย  

2.แรงงานเด็กซึ่งอาจเดินทางมาด้วยตนเอง หรือด้วยความช่วยเหลือของนายหน้าเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

และ 3. เด็กต่างด้าวที่อยู่บริเวณชายแดนเดินทางมาเรียนหนังสือหรือทำงานบริเวณชายแดนของประเทศไทย แต่ไปกลับที่พักหรือภูมิลำเนาในประเทศต้นทาง  และถึงแม้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายเปิดให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐได้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา 

แต่จากตัวเลขสถิติในการเข้าเรียนของเด็กข้ามชาติในโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ.พบว่ามีเด็กข้ามชาติสามสัญชาติเข้าเรียนในระดับ อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งตามสัญชาติ  กัมพูชา 8,180 คน พม่า 49,677 คน ลาว 4,091 คน รวม 3 สัญชาติ 61,948 คน ขณะเดียวกันมีกลุ่มไม่ปรากฎสัญชาติ 18,385 คน หากตัวเลขประมาณการของเด็กข้ามชาติอยู่ที่ประมาณ 200,000 - 400,000 คน น้อยที่สุดเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ประมาณ 40% ของระบบเท่านั้น หากตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 400,000 คนจริง เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนไทยได้เพียง 20 % โดยประมาณเท่านั้น

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การศึกษาของเด็กข้ามชาติเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงเกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ  อุปสรรคในการสื่อสาร เพราะว่านักเรียนมักสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ทำให้ครูกับนักเรียนไม่เข้าใจกัน จำนวนครูและห้องเรียนที่ไม่พอ  คือ โรงเรียนไทยขนาดเล็กและกลางไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็กต่างชาติในพื้นที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มเติมได้โดยทันทีหากยังมีทรัพยากรเท่าเดิม เช่น กรณี  อ.แม่สอด มีศูนย์การเรียนตั้งอยู่รวมทั้งสิ้น 75 ศูนย์ และเด็กต่างชาติที่อยู่ในศูนย์ฯประมาณ 12,800 คน  แต่มีโรงเรียนไทยเพียง 43 โรงและมีบุคคลากรเพียง 552 คน 

นอกจากนี้ทัศนคติของผู้ปกครองไทยมักไม่ยอมรับให้บุตรหลานตนเรียนร่วมกับเด็กไทย เพราะกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษาและการรังเกียจหรือเลือกปฏิบัติทางชาติพันธ์   อีกทั้งผลการเรียนของเด็กต่างชาติฉุดมาตรฐานการศึกษา คือ เนื่องจากทักษะการสื่อสารภาษาไทยนั้นส่งผลโดยตรงต่อผลงานทางวิชาการของเด็กอีก บางครั้งสถานศึกษาที่รับเด็กต่างชาติจะถูกประเมินว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  และที่สำคัญคืองบประมาณ เพราถึงแม้ว่าเด็กต่างชาติจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเช่นเดียวกับเด็กไทย แต่ว่างบประมาณสนับสนุนการศึกษา เช่น อาหารกลางวัน ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งก็จะคลอบคลุมเฉพาะเด็กไทยเท่านั้น ทำให้โรงเรียนที่รับเด็กต่างชาติต้องเบิกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นเอง

ผู้ประสานงานองค์การ World Education กล่าวต่อว่า  สิ่งที่กระทรวงศึกษาควรดำเนินการต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาให้เด็กข้ามชาติ คือ ปรับเงื่อนไขในการจัดการศึกษาในระบบให้รองรับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กข้ามชาติมากขึ้น เช่น ทำความเข้าใจกับโรงเรียนในการรับเด็ก ปรับเงื่อนไขการประเมิน  เร่งออกแนวปฏิบัติในเรื่องการจัดศูนย์การเรียน และปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับผู้เรียนที่เป็นเด็กข้ามชาติ   จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบ School within school ระหว่างโรงเรียนกับศูนย์การเรียน และหารือกับประเทศต้นทาง เพื่อพัฒนาการรับรองวุฒิการศึกษา และระบบการเข้าศึกษาต่อของเด็กข้ามชาติที่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางในอนาคต