หากรัฐบาลไทยออกฎรองรับการจัดการการด้านการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเมื่อเด็กกลับไปยังประเทศต้นทาง สร้างโอกาสเศรษฐกิจอาเซียน ส่งผลดีต่อไทยป้องกันปัญหาค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็ก
น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ปี พ.ศ. 2547 ของกระทรวงมหาดไทย ระบุสถิติของเด็กข้ามชาติอายุ 0-15 ปี ที่อยู่ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 93,082 คน ที่มีการกระจายตัวหนาแน่นบริเวณจังหวัดตามตะเข็บชายแดนและพื้นที่ทางเศรษฐกิจ โดยจำนวนเด็กต่างชาติที่จดทะเบียนกับสำนักงานทะเบียนราษฎร์ในปี พ.ศ. 2547 ที่จังหวัดเชียงใหม่ 14,000 คน ตาก 13,036 คน ระนอง 9,673 คน กาญจนบุรี 6,432 คน เชียงราย 5,266 คน พังงา 3,960 คน สมุทรสาคร 3,679 คน ตราด 3,574 คน สุราษฏร์ธานี 3,340 คน กรุงเทพ 2,390 คน ซึ่งเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาจากรัฐบาลไทย
ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลไทยก่อนปี พ.ศ. 2548 รัฐบาลไทยไม่มีแนวปฏิบัติในการรับเด็กต่างชาติเข้าโรงเรียนไทยที่แน่ชัด แต่ได้มีจุดเปลี่ยนในปีนั้น โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เข้าเรียน โดยได้มีการออกเป็นระเบียบคณะรัฐมนตรี คือ
1. ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย
2. จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว
3. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำฐานข้อมูล เลขประจำตัว 13 หลัก เกี่ยวกับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานหรือไม่มีสัญชาติไทย
4. ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะแก่เด็กและเยาวชนที่หนีภัยจากการสู้รบ
สำหรับทางเลือกในการจัดการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาติมีหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ที่ดำเนินการโดยชุมชนของแรงงานข้ามชาติหรือองค์กรเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการให้การศึกษาต่อเด็กข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชุมชนต่างๆที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการขององค์ที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ประมาณการณ์ว่า มีจำนวนศูนย์การเรียน 116 ศูนย์ กระจายอยู่ใน จ.ตาก 70 แห่ง จ.เชียงใหม่ 16 แห่ง จ.ระนอง 13 แห่ง จ.พังงา 10 แห่ง จ.กาญจนบุรี 5 แห่ง กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง และ จังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนต่างชาติเป็นนักเรียนในศูนย์การเรียนประมาณ 15,000-20,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมกลุ่มผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงรูปแบบการศึกษาใดๆทั้งสิ้น
น.ส.โรยทราย กล่าวต่อว่า การออกกฎกระทรวงของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบศูนย์การเรียน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554, กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ยังไม่มีสัญชาติ รวมถึงเด็กที่ขาดโอกาสในการได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาปรกติได้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเองมากขึ้น ขณะนี้ยังติดอยู่ในขั้นตอนของการขอจัดตั้งศูนย์การศึกษาตามกฎกระทรวงที่เกิดขึ้น ซึ่งรอแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามยังมีการจัดการศึกษาในรูปแบบ School within school หรือ โรงเรียนพี่น้อง ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและศูนย์การเรียนในพื้นที่ หรือที่เรียกกันว่า School within school ในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนในการที่จะผลักดันให้เด็กในประเทศไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามความพยายามในการผลักดันให้เด็กข้ามชาติให้ได้รับการศึกษาในระบบศูนย์การเรียนที่จะจัดตั้งตามกฎกระทรวงข้างต้นนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าในการจัดการมากนัก ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่เหมาะสมสอดคล้องกับเด็กข้ามชาติกลุ่มต่าง ๆ
น.ส.โรยทราย กล่าวว่า หากรัฐบาลไทยออกฎกระทรวงเพื่อรองรับการจัดการการด้านการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษาเมื่อเด็กกลับไปยังประเทศต้นทางซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกันยังจะส่งผลดีต่อประเทศไทยทั้งในเรื่องการจัดการการเคลื่อนย้ายเด็กข้ามชาติและเป็นการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กที่ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายจนทำให้นานาชาติปฏิเสธที่จะสั่งซื้อสินค้าบางชนิดของประเทศไทย
ขอบคุณภาพข่าวจากอินเตอร์เน็ต
- 141 views