สคอ.ชู อบต.พลับพลาไชย จ.สุพรรรณบุรี ท้องถิ่นต้นแบบจัดการความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน การจัดการความเร็วถนนหน้าโรงเรียน เผยดึงทางหลวงชนบทติดตั้งระบบควบคุมเพิ่มความปลอดภัยแก่เด็กนักเรียน ครู ประชาชนในพื้นที่
วันที่ 26 ก.ย. 59 ณ จ.สุพรรณบุรี ในการประชุมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2 จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือสื่อสารประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนนโยบายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนให้มีความต่อเนื่อง และร่วมแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นายมนัส อ่ำทอง ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานฯผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยสื่อมวลชนระดับภูมิภาคและเครือข่ายจาก 26 จังหวัดภาคกลาง รวมทั้งสิ้นกว่า 60 คน
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สาเหตุหลักการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยมาจากเมาและขับเร็ว ซึ่งจากข้อมูลรายการสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนประเทศไทย ปี 2557 (แผนงาน สอจร.)ระบุว่า มีการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี การ“ขับรถเร็ว” จำนวน 344,662 ราย คิดเป็น 670.77 รายต่อแสนประชากร 10 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ชุมพร สมุทรปราการ ลำปาง ขอนแก่น ชลบุรี ชัยภูมิ สระบุรี ลำพูน ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นอันดับที่ 13
ทั้งนี้ล่าสุดได้มีมติของคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 เรื่องความเร็ว เป็น 1 ใน 5 ประเด็นของข้อเสนอแนะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย คือ การลดความเร็วในเขตเมืองให้เหมาะสม สอดคล้องกับถนนแต่ละประเภท และการเพิ่มโทษให้สูงขึ้นเป็น 10,000 บาท (ทั้ง พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.ทางหลวง) เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วลดลงและทำให้อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วลดลง
จังหวัดสุพรรณบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมของถนนมากที่สุดในประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องการขับรถเร็วที่สร้างความสูญเสียมากสุด
ในการประชุมครั้งนี้ สคอ.ได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมเรียนรู้พื้นที่เรียนนำร่องการจัดการความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียนตามแบบวิศวกรรมจราจร จนทำให้รถยนต์ที่วิ่งผ่านมีการใช้ความเร็วลดลงและส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนร่วมกันนำเสนอข้อมูล สถานการณ์ ปัญหา สาเหตุ ผลกระทบและต้นแบบการแก้ไขปัญหาความเร็วที่ได้ผลนำเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างเข้มข้น เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นนโยบาย มาตรการที่จะควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนนให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป
นายพีระศักดิ์ มาตรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า อบต.พลับพลาไชย มี 14 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 13,000 คน เมื่อปี 2551 ได้มีการสำรวจจุดเสียงในชุมชนพบมี 3 จุด คือ จุดที่ 1 บริเวณสี่แยกสะพานหนองกุฎิ ม.7 เป็นลักษณะสี่แยกตัวคูณ จุดที่ 2 บริเวณสี่แยกสะพานโรงไฟฟ้า ม.3 เป็นสี่แยกตัวเอส มีกิ่งไม้และป้ายโฆษณาบังการมองเห็น ไม่มีไฟเขียว-ไฟแดง ซึ่งเป็นจุดมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 4-5 ครั้งต่อเดือน จนถูกเรียกสี่แยกว่า “สี่แยกร้อยศพ”
ทาง อบต.พลับพลาไชย จึงได้เริ่มโครงการ “พลับพลาไชย ร่วมใจสร้างความปลอดภัยทางถนน” ดึงชุมชนมีส่วนร่วมและบูรณาการอย่างเป็นระบบ ใช้แนวทางพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหาพื้นที่จุดเสี่ยง ปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น ทำลูกระนาดชะลอความเร็ว ป้ายจราจรติดตั้งกระจกโค้ง สัญญาณเตือน ซ่อมแซมถนน ปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง ตัดแต่งกิ่งไม้ฯ จนสามารถแก้ไขจุดเสี่ยง และลดอุบัติเหตุในพื้นที่ลงได้ ขณะเดียวกันได้มีการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน อบรมเกี่ยวกับกฎและวินัยจราจรให้กับผู้ปกครองและเด็ก มอบหมวกนิรภัยให้เด็กนักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ติดตั้งป้ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุชุมชน เสียงตามสายในหมู่บ้าน รวมทั้งจัดตั้งหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน อบต. พลับพลาไชย รับแจ้งเหตุและประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่และใกล้เคียง
ซึ่งขณะนี้ อบต.มีอาสาสมัครกู้ชีพ-กู้ภัยอุบัติเหตุ จำนวน 15 คน ซึ่งผ่านการฝึกอบรมกู้ชีพและปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและพิการของผู้ประสบภัย โดยทาง อบต.ได้จัดหารถพยาบาลกู้ชีพประจำตำบลไว้ในกรณีฉุกเฉินจำนวน 1 คัน ได้รับการสนับสนุนเปล อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากโรงพยาบาลใกล้เคียง หากเกิดอุบัติเหตุก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประสบเหตุมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น
นายสุนทร ศรีราคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนคีรีเจริญผล อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า บริเวณหน้าโรงเรียนมีลักษณะเป็นทางโค้ง เป็นจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุและยังอยู่ใกล้กับตลาดนัด ทำให้มีปริมาณรถจำนวนมากที่วิ่งผ่านเส้นทางหน้าโรงเรียน ประกอบกับมีรถบรรทุกที่ใช้ความเร็วมากในแต่ละวัน ทำให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง จึงได้ประสานไปทาง อบต.ให้มาช่วยดูแลแก้ไข ซึ่งขณะนั้น อบต.ได้ติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบก็ไม่เป็นผล จะเปลี่ยนมาทำลูกระนาดก็ติดที่เป็นทางโค้งมีความเสี่ยงอันตรายมาก และหากจะจัดจราจรด้านหน้าโรงเรียนเด็กและครูก็อันตรายยิ่งกว่า
จนกระทั่งปี 2556 ทางโรงเรียนกับ อบต.พลับพลาไชย ได้ประสานไปยังทางหลวงชนบท ขอติดตั้งระบบเพื่อลดความเร็วตามแบบวิศวกรรมจราจร ซึ่งกรมทางหลวงได้ดำเนินการติดตั้งระบบควบคุมความเร็วหน้าโรงเรียนให้ในปี 2557 นับเป็นแห่งแรกในตำบลพลับพลาไชย ซึ่งมีการติดตั้งป้ายลดความเร็ว ป้ายเตือนไฟกระพริบความเร็ว 30 ป้ายกระพริบบอกเขตโรงเรียน ป้ายเตือนแถบลดความเร็ว แถบลดความเร็วบนถนนทาสีแดง ระยะห่างประมาณ 20 เมตร 50 เมตร และ 100 เมตร ข้างละ 3 จุด หลังจากติดตั้งระบบแล้ว ส่งผลให้ถนนบริเวณหน้าโรงเรียนมีความปลอดภัย เด็กนักเรียน ครู ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นและพบว่ารถขับที่ผ่านบริเวณหน้าโรงเรียนใช้ความเร็วที่ลดลง มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่เนื่องจากเห็นป้ายสัญลักษณ์ต่างที่ติดตั้งไว้ ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง เหลือปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น
- 96 views