นายกแพทยสภา ยืนยัน แพทยสภาเกือบทั่วทั้งโลกไม่มีคนนอกเป็นกรรมการ ระบุ หลักการสภาวิชาชีพให้ผู้รู้ดูแลกันเอง ย้ำกรรมการปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการตั้งแคมเปญรณรงค์ปฏิรูปแพทยสภาด้วยการเปิดให้คนนอกเข้ามาเป็นกรรมกรรมของ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ว่า แทบจะไม่มีประเทศไหนในโลกที่นำคนนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการแพทยสภา โดยในทวีปยุโรปก็มีเพียงอังกฤษประเทศเดียวเท่านั้น ส่วนในทวีปเอเชียก็จะมีเพียงประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพ แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ ขณะที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่อินเดีย ก็ไม่มีการนำคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการ
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมประชุมกับคณะกรรมการแพทยสภาของสิงคโปร์ ทำให้ทราบว่ากรรมการทั้ง 25 ราย ก็เป็นแพทย์ทั้งหมด และครึ่งหนึ่งได้มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับประเทศไทย ส่วนประเทศมาเลเซียทั้ง 19 ราย ก็เป็นแพทย์ทั้งหมดเช่นกัน
“ในสหภาพยุโรปมีเพียงอังกฤษประเทศเดียวที่มีคนที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาในสัดส่วน 6 คน จาก 12 คน เดิมทีแพทยสภาของประเทศอังกฤษมีเฉพาะแพทย์และได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการแต่งตั้งทั้งหมด และทำหน้าที่เหมือนกองประกอบโรคศิลปะคือไม่เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาหรือการฝึกอบรมให้วุฒิบัตร”ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โดยหลักคิดแล้วแพทยสภาไทยกับแพทยสภาต่างประเทศตั้งอยู่บนฐานคิดเดียวกัน เพียงแต่ในประเทศไทยมีการขยายภารกิจเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่การออกใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต แต่ยังครอบคลุมไปถึงหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย ถามว่าหากเอาคนที่ไม่มีความรู้เข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาแล้วเขาจะตัดสินมาตรฐานวิชาชีพอย่างไร จะรักษาต้องรักษากันอย่างไร แน่นอนว่าจะเกิดปัญหา
“ผมคิดว่าถ้าเอาคนนอกเข้ามา อาจมาในส่วนของการพิจารณาจริยธรรม เรื่องการร้องเรียน ตรงนี้โอเค แต่แพทยสภาก็ทำอยู่แล้ว มีอัยการ มีสภาทนายความเข้ามาช่วยดูแลอยู่”ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นายกแพทยสภา กล่าวอีกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าวิชาชีพคืออะไร วิชาชีพคือความรู้ในสิ่งที่คนทั่วไปไม่มีความรู้ แล้วต้องมีผลต่อประชาชน เรียนนาน ต้องมีใบอนุญาต เช่น แพทย์ ทนายความ ฉะนั้นหลักการตั้งสภาวิชาชีพขึ้นมาก็เพื่อให้คนที่มีความรู้ดูแลกันเองเพราะว่าเขาจะรู้ทันกัน แต่ในส่วนของประเทศอังกฤษนั้นเขาเปลี่ยนจากดูแลกันเองไปเป็นดูแลคุ้มครองประชาชน ซึ่งในประเทศไทยก็มีกลไกการคุ้มครองประชาชนแล้วเช่นกัน
สำหรับประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างแพทยสภากับโรงพยาบาลเอกชน ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วแพทยสภาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลเอกชน ไม่มีอำนาจอะไรเกี่ยวกับเอกชนเลย และสัดส่วนกรรมการแพทยสภา ก็มีคณบดีแพทย์ 20 คณะ กรมแพทย์ทหารบก เรือ อากาศ และอธิบดีกรมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นข้าราชการ ส่วนที่เลือกตั้งมานั้นครึ่งหนึ่งก็เป็นราชการ
“อย่างผมเองก็รับราชการมา 30 ปี แต่ทุกวันนี้เกษียณแล้วก็ต้องใส่ว่าเป็นเอกชน แต่ในความเป็นจริงคือทุกวันนี้ผมก็ยังสอนหนังสือให้รัฐบาลอยู่ หรือกรรมการท่านอื่นก็เกษียณแล้วทั้งนั้น” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ล่ารายชื่อปฏิรูป ‘แพทยสภา’ ดันแก้ กม. ‘เพิ่มคนนอก-กก.เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ’
อดีตอธิการ มข.หนุนปฏิรูปแพทยสภาเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่ใช่แค่สหภาพแรงงานหมอ
แพทยสภาไม่จำกัดวาระ กก. เพื่อทำงานต่อเนื่อง ทั้งไม่มีอำนาจล้นแบบ ปธน.
‘หมอธีระ’ ค้านข้อเสนอคนนอกนั่งกรรมการแพทยสภา ชี้เป็นข้อเสนอสุดโต่ง
หมอล่ารายชื่อ ค้านข้อเสนอแก้กฎหมาย เพิ่มคนนอกเป็น กก.แพทยสภา
แนะควรจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง กก.แพทยสภา แก้ปัญหาผูกขาด
‘ปรียนันท์’ เตรียมยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อถึง สนช. 29 ก.ย.นี้ รื้อใหญ่ ‘แพทยสภา’
- 7 views