สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบการส่งต่อ เขตสุขภาพที่ 4 พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย ให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว สะดวก ใกล้บ้าน คู่ขนานกับการพัฒนาระบบรับกลับผู้ป่วยช่วยให้เกิดการดูแลผู้ป่วยในระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบส่งต่อผู้ป่วยในเขต ลดการส่งผู้ป่วยออกนอกเขต ผ่านกลไกทางการเงินในการจ่ายชดเชยให้แก่หน่วยบริการอย่างเป็นธรรม
นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ที่ส่งต่อไปนอกเขตสุขภาพที่ 4 ไตรมาส 1-3 ปี 2559 จากการประมวลผลของ สปสช.เขต 4 สระบุรี พบว่า 5 อันดับโรคหลักที่มีการส่งต่อไปนอกเขตมากที่สุด ได้แก่ โรคมะเร็งรังไข่ จำนวน 499 ครั้ง รองลงมาคือ โรคหัวใจจากหลอดเลือดแดงแข็ง จำนวน 432 ครั้ง โรคมะเร็งลำไส้ตรง จำนวน 208 ครั้ง โรคออทิซึมในวัยเด็ก จำนวน 192 ครั้ง และโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก จำนวน 176 ครั้ง
ด้วยเหตุนี้ สปสช.เขต 4 สระบุรี จึงได้พัฒนาวางระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยบริการแต่ละระดับ โดยการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่หน่วยบริการในพื้นที่ใกล้บ้าน ผ่านคณะกรรมการพัฒนาระบบการส่งต่อ เขตสุขภาพที่ 4 ซึ่งมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี เป็นประธานคณะกรรมการ ทั้งนี้จากมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติเห็นชอบ เกณฑ์การจัดสรรเงินสำหรับการส่งผู้ป่วยกลับสำหรับหน่วยบริการในเขตสุขภาพที่ 4
ผลจากมติที่คณะกรรมการเห็นชอบเกณฑ์การจัดสรรเงินสำหรับการส่งผู้ป่วยกลับสำหรับหน่วยบริการในเขตสุขภาพที่ 4 เห็นชอบให้ จ่ายงบประมาณที่มีการรับกลับผู้ป่วยใน โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยในปี 2559 จำนวน 9 เดือนแรกและข้อมูลผู้ป่วยในปี 2558 จำนวน 3 เดือนหลังสุดบวกอัตราการโตของข้อมูลผู้ป่วยใน 7% จะได้จำนวนการรับกลับเท่ากับ 11,158 ครั้ง AdjRW รวมเท่ากับ 36,425.56 โดย 1 AdjRW เท่ากับ 823.60 บาท ซึ่งมติดังกล่าวจะช่วยพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ให้เกิดระบบที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพภายใต้อำนาจหน้าที่ อปสข.ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การจ่าย กรณีเพิ่มความมั่นใจเรื่องคุณภาพบริการ โดยผ่านความเห็นชอบจาก อปสข. ซึ่งส่งผลให้หน่วยบริการในเขตได้รับเงินชดเชยการให้บริการที่เหมาะสมและเป็นธรรม ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและใกล้บ้าน
- 41 views