สปสช.เขต 4 สระบุรี นำร่องระบบเบิกจ่ายตรงสิทธิ์ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ใน รพ.สต.และศูนย์บริการสาธารณสุข 98 แห่ง 6 จังหวัด ผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลไม่ต้องสำรองจ่าย เพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลตามสิทธิ์ข้าราชการส่วนท้องถิ่นและครอบครัว
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรีประชุมชี้แจงแนวทางการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในระบบเบิกจ่ายตรงให้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ รพ.สต.และศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องเบิกจ่ายตรงกว่า 120 คน จาก 8 จังหวัดภาคกลางในพื้นที่รับผิดชอบได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี อ่างทองและนครนายก
นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว เพื่อให้เกิดระบบคุ้มครองความมั่นคงด้านสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว ให้ได้รับบริการที่เสมอภาคกับสิทธิ์อื่นๆ และลดภาระความเสี่ยงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ซึ่งสิทธิประโยชน์นั้น มีความเสมอภาคและทัดเทียมระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยผู้มีสิทธิ์ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง และมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 เป็นต้นมา โดยให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนนั้น
สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้มีนโยบายให้มีการพัฒนาระบบการเบิกจ่ายตรงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล เพื่อให้ผู้มีสิทธิคือข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องสำรองจ่าย และลดปัญหาการเบิกจ่ายเงินด้วยใบเสร็จรับเงิน โดยนำร่องในหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ที่มีความพร้อม ได้แก่ รพ.สต.และศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งจากการดำเนินงานมีหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีความพร้อมเข้าร่วมนำร่องในระบบเบิกจ่ายตรง จำนวน 98 แห่ง ของ 6 จังหวัด จาก 8 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี และอ่างทอง มีหน่วยบริการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้าร่วมมากที่สุดคิดเป็น 49% ของหน่วยบริการปฐมภูมินำร่อง
สำหรับการชี้แจงในครั้งนี้เพื่อให้หน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้าร่วมโครงการนำร่องเบิกจ่ายตรงมีความเข้าใจในการดำเนินงานประกอบด้วย ระบบการลงทะเบียนผ่านโปรแกรม (สแกนนิ้ว) NHSO Client การจัดทำบัญชีข้อมูลยา (Drug catalogue) สิทธิประโยชน์ / หลักเกณฑ์เงื่อนไขการเบิกจ่ายสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นฯ และการเบิกจ่ายในโปรแกรม E-Claim หน่วยบริการสามารถบันทึกข้อมูลการขอเบิกชดเชยค่าบริการทางการแพทย์จาก สปสช.ผ่านโปรแกรมฯ ได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้บริการ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงแล้ว ไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สูติบัตร สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สำหรับผู้มีสิทธิที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนผ่านโปรแกรม (สแกนนิ้ว) สามารถลงทะเบียนได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมินำร่อง 98 แห่ง และตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการปฐมภูมินำร่องได้ที่ saraburi.nhso.go.th หรือหากมีปัญหาไม่เข้าใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330
- 208 views