การนวดนับเป็นส่วนสำคัญของการแพทย์แผนไทย กล่าวกันว่าภูมิปัญญาการนวดพื้นบ้านไทยนั้นสืบทอดกันมาช้านาน เริ่มขึ้นจากภายในครอบครัว ภรรยานวดให้สามี ลูกหลานนวดให้พ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย มีการใช้มือ ศอก เข่า และเท้า นวดให้กันหรือนวดตนเอง ต่อมาจึงมีการคิดอุปกรณ์ในการนวดเพื่อช่วยให้ใช้น้ำหนักได้มากขึ้น เช่น กะลา เบี้ย ไม้กดหลัง นมสาวหรือนมไม้ รวมถึงการใช้ลูกประคบและอบสมุนไพรเพื่ออาศัยความร้อนจากไอน้ำร้อนหรือสมุนไพรช่วยในการบำบัดอาการ

จากการนวดเพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัว ได้พัฒนาจนเกิดความชำนาญเป็นที่รู้จักในแวดวงเพื่อนบ้านและคนในชุมชน กระทั่งกลายเป็นอาชีพหมอนวดในที่สุด

เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ไทย จะพบว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการนวดที่เก่าแก่ที่สุดคือ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ขุดพบที่วัดป่ามะม่วงตรงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีรอยจารึกเป็นรูปการรักษาโดยการนวด มายุคสมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) ปรากฏความในกฎหมายตราสามดวงถึงการแบ่งส่วนราชการให้มีกรมหมอนวดเป็นกรมใหญ่ เจ้ากรมและปลัดกรมมีศักดินามากกว่ากรมอื่นๆ จำแนกตำแหน่งเป็น หลวง ขุน หมื่น พัน และมีศักดินาเช่นเดียวกับข้าราชการสมัยนั้น คือเจ้ากรมหมอนวดมีตำแหน่งหลวงรักษา และแบ่งการบริหารเป็นปลัดกรมหมอนวดฝ่ายขวาคือหมอนวดฝ่ายผู้ชาย มีขุนภักดีองค์เป็นปลัดกรมหมอนวดฝ่ายขวา

สำหรับเจ้ากรมหมอนวดฝ่ายซ้ายคือหมอนวดฝ่ายหญิง มีหลวงราโชเป็นหัวหน้าและขุนองค์รักษาเป็นปลัดเจ้ากรม

ขณะที่ตำแหน่งหมื่นมีตำแหน่งเท่ากันทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ได้แก่ หมื่นแก้ววรเลือก หมื่นวาโยวาด หมื่นวาโยนาศ และหมื่นวาโยไชย ตามลำดับ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ รองลงไปได้แก่ พัน และนายพะโรง

กล่าวโดยสรุปแล้ว กรมหมอนวดมีความรับผิดชอบมากและต้องใช้หมอมากกว่ากรมอื่นๆ ทั้งนี้เพราะการนวดทั่วไปเป็นการรักษาขั้นพื้นฐาน หลักฐานจากจดหมายเหตุของ ราชทูต ลาลูแบร์ ประเทศฝรั่งเศส ที่เข้ามาในกรุงสยามเมื่อปี พ.ศ. 2230-2231 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.2199-2231) ได้บันทึกเรื่องหมอนวดในแผ่นดินสยามมีความว่า "ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครป่วยไข้ลงก็จะเริ่มทำเส้นสายยืดโดยให้ผู้ชำนาญทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้แล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่ายไม่พักเจ็บปวดมาก"

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ การแพทย์แผนไทยยังคงได้สืบทอดรูปแบบต่อจากสมัยอยุธยาแต่เอกสารและวิชาความรู้บางส่วนได้สาบสูญไปเนื่องจากภาวะสงคราม ทั้งคนยังถูกจับไปเป็นเชลยศึกบางส่วนด้วย แต่ยังคงมีหมอกลางบ้านและพระภิกษุที่เป็นหมออยู่ตามหัวเมืองเหลืออยู่บ้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามขึ้นเป็นอารามหลวง (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) เมื่อ พ.ศ. 2331 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมและจารึกตำรายา และรูปปั้นท่าฤาษีดัดตน พร้อมอักษรจารึกติดกับฤาษีดัดตนว่าท่านั้นแก้โรคอะไร ไว้ตามศาลารายบริเวณวัด พร้อมทั้งมีการรื้อฟื้นกรมหมอโรงพระโอสถขึ้นมาใหม่อีก

ในปี พ.ศ. 2375 ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประชุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ตำรายา ตำราหมอนวด ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ประเพณี ศาสนา และสุภาษิต มาจารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ และยังได้ทรงโปรดให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 1 พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายดวงจักร) เป็นผู้ทรงกำกับช่างหล่อรูปฤาษีดัดตนท่าต่างๆ รวม 80 ท่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2379 ปั้นแล้วตั้งไว้ตามศาลาราย และให้จารึกตำรายา ตำราหมอนวดบอกสมุฏฐานของโรคและวิธีบำบัด 60 แผ่นพร้อมคำบรรยายสรรพคุณ เป็นโคลงสี่สุภาพแต่งโดยกวีมีชื่อในสมัยนั้น รวมองค์พระมหากษัตริย์และพระเจ้าน้องยาเธอ ขุนนาง พระภิกษุ ตลอดจนสามัญชน รวม 35 ท่าน ร่วมกันนิพนธ์และแต่งโคลงรวมทั้งสิ้น 80 บท โดยจารึกไว้บนแผ่นหินอ่อนประดับตามผนังโบสถ์และศาลารายในบริเวณวัดเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและนำไปใช้ในการรักษาตนเพราะสมัยนั้นตำรายังหายาก จนวัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น "มหาวิทยาลัยเปิด" แห่งแรกในประเทศไทย

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 3 ยังให้ขุนรจนา เป็นผู้คัดลอกภาพลงสมุดไทย ให้ขุนอาลักษณ์สิสุทธิอักษรเป็นผู้คัดลอกและตรวจทานโคลงที่แต่งเขียนลงกำกับภาพไว้ลงในสมุด

กล่าวได้ว่า ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยที่วัดพระเชตุพนฯ ประกอบไปด้วยตำรายาและตำราที่เกี่ยวกับการนวด แบ่งเป็นหมวดหมู่คร่าวๆ ได้ดังนี้

1. วิชาบริหารร่างกาย (ฤาษีดัดตน) การบริหารร่างกายหรือการดัดตนระงับความเมื่อย มีการปั้นฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ สร้างมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแต่เปลี่ยนมาเป็นฤาษีหล่อดีบุกจำนวน 80 ท่า และมีโคลงสี่อธิบายประกอบครบทุกรูป (แม้ปัจจุบันเหลือรูปปั้นฤาษีดัดตนเพียงแค่ 24 รูป ที่เขาฤาษีดัดตนใกล้พระวิหารด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ)

2. วิชาเวชศาสตร์ เรียกว่า ตำราอาจารย์เอี่ยม ศึกษาโรคภัยไข้เจ็บตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย มีการแยกสมุฏฐานของโรคต่างๆ ได้แก่ ธาตุทั้ง 4 สมุฏฐานของโรคซึ่งเกี่ยวพันกับที่อยู่อาศัย ฤดู วัน เวลา รวมถึงสาเหตุของอาหาร การดูลักษณะอาการของไข้และการวินิจฉัยโรค การใช้ยาบำบัดโรค ซึ่งแต่ละโรคจะมีตำรายาให้เลือกใช้หลายขนาน เมื่อนับรวมทั้งหมดแล้วมีกว่า 1,128 ขนาน

3. วิชาเภสัช ว่าด้วยสรรพคุณของเครื่องสมุนไพรและเครื่องเทศแต่ละชนิด ว่าส่วนใดมีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคใด จำนวนกว่า 113 ชนิด

4. วิชาแผนนวด หรือวิชาหัตถศาสตร์ ในจารึกมีแผนภูมภาพโครงสร้างร่างกายมนุษย์ แสดงที่ตั้งของเส้นประสาทการนวด 14 ภาพ และเกี่ยวกับการนวดแก้ขัดยอก แก้เมื่อยและโรคต่างๆ 60 ภาพ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงมีกรมหมอนวดเช่นเดียวกับสมัยอยุธยาและทรงโปรดให้หมอยาและหมอนวดถวายการรักษาความเจ็บป่วยยามทรงประชวรเสมอ กระทั่งมีมหาดเล็กและพระสนมที่มีความชำนาญในการนวดติดตามเสด็จประพาสไปในที่ต่างๆ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ชำระคัมภีร์แพทย์ คัมภีร์แผนนวดและฤาษีดัดตน ในปี พ.ศ. 2413 ปรากฏหลักฐานในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นตำราแผนนวดฉบับหลวงพระราชทานในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2449 เพื่อศึกษาและใช้โดยแพทย์หลวงเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ได้รวบรวมไว้คือ แผนภาพที่สำคัญของวิชาการนวดไทย ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เส้นสิบ” ซึ่งจารึกโดยท่านบรมครูชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อ 2500 กว่าปีมาแล้ว ขณะที่ในปี พ.ศ. 2445 มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังฤาษีดัดตนที่ศาลาโถงของวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) จังหวัดสงขลา จำนวน 40 ท่า

ครั้นเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมแพทย์หลวงถูกยุบด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองทำให้รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด หมอหลวงที่เคยรับราชการอยู่ต้องออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว การนวดจึงหมดบทบาทจากราชสำนักไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 ระบุการนวดอยู่ในนิยามของโรคศิลปะ แต่หมอนวดแบบชาวบ้านก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ หมอนวดที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ได้แก่ หมออินเทวดาซึ่งเป็นหมอนวดในราชสำนัก  

รัชกาลที่ 7 มีกฎเสนาบดี พ.ศ. 2472 ระบุสาขาการนวดในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และในปี พ.ศ. 2475 มีการก่อตั้งสมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทยและมีการสอนนวด

ในรัชกาลที่ 8 พระองค์ได้ตราพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ระบุสาขาการนวดในการประกอบโรคศิลปะโบราณ

ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 คณะกรรมการวัดพระเชตุพนฯ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์แผนไทยได้สนองพระราชปรารภพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จัดทำหลักสูตรโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้นในนาม "โรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย" ได้เปิดสอนเป็นแห่งแรกที่วัดพระเชตุพนฯ โดยแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร คือ เวชกรรม เภสัชกรรม และหัตถกรรม ต่อมาได้มีการขยายตัวไปทั่วประเทศในนามของสมาคมแพทย์แผนโบราณ ซึ่งเป็นงานการฟื้นฟูการแพทย์ของเอกชน

ในปี พ.ศ. 2530 กระทรวงสาธารณสุขตีความว่าการนวดแผนไทยเพื่อรักษาโรคเป็นการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม สอดคล้องกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกธุรกิจการนวดแผนโบราณ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และได้รับความนิยมจากต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจการนวดเฟื่องฟู แต่แล้วก็มีบางสถานที่ที่อาศัยการนวดแอบแฝงกับการขายบริการทางเพศ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านนวดแผนโบราณเพื่อเตรียมการให้การนวดไทยเป็นการประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทยประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะฉบับใหม่ ในช่วงเวลานั้นมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเรียนนวดไทยมากจนมีการเปิดสำนักสอนการนวดไทย ผลิตหนังสือและสื่อการสอนนวดออกมาแพร่หลาย

กล่าวได้ว่า ในสังคมไทยสมัยก่อนการถ่ายทอดวิชาการนวดไทยยังไม่มีการสอนอย่างเป็นระเบียบแบบแผน เป็นแต่เพียงการถ่ายทอดตามสายบรรพบุรุษหรือตระกูลเดียวกัน ผู้เป็นอาจารย์จะพิจารณาว่าลูกศิษย์เหมาะสมที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ให้หรือไม่ หรืออาจเป็นผู้ที่คุ้นเคยและอยากเรียนวิชามาฝากตัวเป็นศิษย์โดยมีพิธีไหว้ครูและครอบวิชาหมอนวดให้

การเรียนการสอนมีลักษณะแบบตัวต่อตัว เริ่มเรียนจากการฝึกกำลังนิ้วตั้งแต่ขยำก้อนขี้ผึ้ง ดินน้ำมัน หรือดินเหนียว จนมีกำลังนิ้วและมือแข็งแรงมากขึ้น จากนั้นจะสอนเรื่องจุดนวด เส้นประตูลม ฯลฯ แล้วเริ่มฝึกปฏิบัติ หัดนวดครูและติดตามครูเพื่อรับรู้ประสบการณ์วิธีการนวดและวิธีจับเส้นจากครูให้ได้มากที่สุด

ขณะที่การเรียนการสอนการนวดในปัจจุบันนั้น มีการเรียนการสอนหรือสืบทอดทั้งในวัด สถาบันการศึกษา และภายในครอบครัว โดยสถานศึกษาการนวดแผนไทยแห่งแรกคือวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) และมีขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น วัดสามพระยา วัดปรินายกจำกัด รวมถึง อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ที่ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ ซึ่งก่อตั้งโดยศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ อาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อันเป็นความพยายามที่จะฟื้นฟูและพัฒนาแพทย์แผนไทยภูมิปัญญาที่ล้ำค่าเอาไว้

เมื่อกล่าวถึงนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม และเปิดโรงเรียนเพื่อสอนการแพทย์แผนไทยขึ้นเพื่อสอนการนวดแบบราชสำนักในช่วงปี พ.ศ. 2523-2525 ในขณะนั้นเรียกว่าโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) โดยหมอนวดที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ได้แก่ หมออินเทวดาหมอนวดในราชสำนัก หมออินเทวดาได้ถ่ายทอดวิชาการนวดทั้งหมดให้แก่บุตรชาย คือ หมอชิต เดชพันธ์ ซึ่งต่อมาท่านได้ถ่ายทอดให้กับศิษย์หลายท่านและในจำนวนนั้นมี อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ เป็นศิษย์เอกรวมอยู่ด้วย

ต่อมาอาจารย์ณรงค์สักข์เป็นอาจารย์อยู่ที่อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) โดยการเชิญของอาจารย์อวย เกตุสิงห์ ท่านจึงได้ถ่ายทอดวิชาการนวดแบบราชสำนักนี้ให้แก่ผู้เรียนของอายุรเวทวิทยาลัยทุกคน รวมทั้งเปิดคลินิกเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบแพทย์แผนไทย และยังนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะพัฒนาหลักสูตรเป็นการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และในปี พ.ศ. 2546 หน่วยงานทั้งหมดได้โอนย้ายมาสังกัดคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกชื่อว่า “สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์”

กล่าวโดยสรุป องค์ความรู้ด้านการนวดไทยปัจจุบันมีแหล่งที่มาจากคัมภีร์ ตำราการนวดไทย ดังนี้

1. แผนนวดวัดพระเชตุพนฯ สมัยรัชกาลที่ 3

2. แผนนวดฉบับหลวงพระราชทาน สมัยรัชกาลที่ 5

3. ตำราโรคนิทาน คำฉันท์ 11 ของ พระยาวชิยาธิบดี เจ้าเมืองจันทบูร สมัยรัชกาลที่ 1

4. แผนนวดพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่คัดลอกสืบต่อกันมาคล้ายกับแผนนวดฉบับหลวงหรือแผนนวดวัดพระเชตุพนฯ

เก็บความจาก

อัจฉรา บุญแทน.  การนวดพื้นบ้านไทย และความเจ็บป่วยตามแนวคิดการแพทย์แผนไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551.

แหล่งที่มาภาพ: http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999842.html