เว็บไซต์เดอะ คอนเวอร์เซชั่น นำเสนอบทความว่าด้วยความท้าทายและแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องของการวินิจฉัยโรคที่เป็นดั่งประตูไปสู่การรักษา แม้แต่โลกตะวันตกเองที่มีทั้งความพร้อมทางการแพทย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาก็ล้วนต้องตระหนักถึงขีดจำกัดของการวินิจฉัยโรค กล่าวคือ
“การวินิจฉัยเพื่อวางแนวทางสำหรับฟื้นฟูสุขภาพเป็นสิ่งที่คนไข้ต่างคาดหวังเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ก็ใช่ว่าการวินิจฉัยโรคนั้นจะทำได้อย่างแม่นยำเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยชายอายุ 50 ปีรายหนึ่งซึ่งมีประวัติโรคความดันโลหิตสูงได้รับการนำส่งห้องฉุกเฉินเนื่องจากเจ็บหน้าอกและหายใจขัด อาการดังกล่าวพ้องกับอาการของโรคหัวใจ
แพทย์เวรประจำห้องฉุกเฉินจึงได้สั่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจเลือด แม้ผลตรวจเป็นลบแต่ด้วยเหตุที่แพทย์ตระหนักว่าผลลัพธ์อาจผิดพลาดและทุกนาทีล้วนมีผลต่อชีวิต จึงได้สั่งจ่ายยาละลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาชีวิตคนไข้ แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่าทั้งการวินิจฉัยและการตัดสินใจล้วนผิดพลาด เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดเอออร์ตาซึ่งแม้จะมีอาการไม่ชัดเจนแต่ก็รุนแรงไม่แพ้กัน”
บทความดังกล่าว นำเสนอปัญหาความท้าทายและแนวทางแก้ไขป้องกันข้อบกพร่องของการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยและคุณภาพการรักษาสุขภาพ (Agency for Healthcare Research and Quality) ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา
คิดผิดวิธีพาวินิจฉัยบกพร่อง
กล่าวได้ว่า แพทย์ฝึกฝนการวินิจฉัยแยกโรคผ่านการคำนวณ วิเคราะห์อาการ และพิจารณาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการ เช่น อาการปวดหน้าอกอาจบ่งชี้ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือระบบทางเดินหายใจ จากนั้นมาวิเคราะห์ว่าโรคใดเป็นสาเหตุ โดยเน้นหนักที่โรคซึ่งอาจทำให้คนไข้ถึงแก่ชีวิต เช่น โรคหัวใจ ทางเดินหายใจอุดกั้น ปอดแฟบ หรือหลอดเลือดเอออร์ติกฉีกขาด แต่หากไม่พบโรคจากผลตรวจ ก็จะมองไปที่โรคซึ่งมีอันตรายรองลงมา เช่น อาการแสบร้อนหน้าอกหรือการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ
ดังที่กล่าวมา การวินิจฉัยแยกโรคด้วยความใจเย็นนั้นใช่ว่าจะทำได้ง่าย โดยข้อจำกัดทั้งด้านเวลาและประสบการณ์อาจเป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัยแยกโรคจนอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด และยังรวมถึงปัจจัยอื่น เช่น อคติ ซึ่งแพทย์มีแนวโน้มฝังใจกับข้อมูลชุดแรกหรือการวินิจฉัยแรกสุด โดยละเลยข้อมูลที่ได้รับต่อมาและอาจบ่งชี้ความเป็นไปได้ทางอื่น ตลอดจนอคติจากความทรงจำหรือประสบการณ์ ซึ่งทำให้มองข้ามแนวโน้มของโรค
ด้วยเหตุนี้ แพทย์ห้องฉุกเฉินซึ่งมักเผชิญคนไข้หัวใจวายเป็นประจำ จึงอาจฝังใจกับการวินิจฉัยโรคหัวใจระหว่างที่ตรวจสุขภาพชายวัยกลางคนดังกล่าวที่มาด้วยอาการปวดหน้าอกและมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ รวมถึงอาจด่วนสรุปการวินิจฉัยเร็วเกินไปโดยไม่พยายามค้นหาความเป็นไปได้ทางอื่น แม้ว่าการวินิจฉัยนั้นจะยังคงไม่สมบูรณ์ก็ตาม
จะลดการวินิจฉัยบกพร่องได้อย่างไร
บทความกล่าวถึง เดเนียล คาห์เนมาน เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2545 ผู้ที่นำเสนอว่าระบบการคิดของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นระบบคิดเร็วและคิดช้า โดยระบบคิดเร็ว (ระบบ 1) เป็นกระบวนการอัตโนมัติซึ่งมีอารมณ์เป็นตัวกระตุ้น ขณะที่ระบบคิดช้า (ระบบ 2) เป็นกระบวนการที่อาศัยการใคร่ครวญตามหลักเหตุผล
ซึ่งนักศึกษาแพทย์ต่างผ่านการฝึกฝนมาทั้ง 2 ระบบเพื่อให้สามารถนำความรู้ ประสบการณ์ และความตระหนักมาใช้เพื่อวินิจฉัยตามหลักเหตุผล
อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจพบว่าต้องอาศัยเพียงการคิดแบบระบบ 1 เท่านั้น เช่น เมื่อแพทย์ตรวจเด็กเล็กที่มีไข้และมีผื่นที่มักพบในโรคสุกใสก็สามารถวินิจฉัยได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาหรือมองหาความเป็นไปได้อื่น แต่ในทางกลับกันภาระงานที่ล้นมือก็อาจส่งผลให้แพทย์บางรายละเลยการคิดแบบระบบ 2 ทั้งที่มีความจำเป็นในผู้ป่วยโรคที่ซับซ้อน
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยชี้ว่า อุปสรรคด้านเวลาที่บีบคั้นทำให้ยากที่แพทย์จะสามารถคิดอย่างพินิจพิเคราะห์ นอกจากภาระงานที่ต้องเดินหน้าตลอดเวลาและความเหนื่อยล้าแล้ว ยังชี้ให้เห็นอุปสรรคจากความแปรปรวนของข้อมูลทั้งในแง่การรวบรวม นำเสนอ และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการวินิจฉัยด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่แพทย์มักไม่มีเวลาพินิจข้อมูลระหว่างการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังที่แพทย์มักต้องทำอย่างอื่นไปด้วยระหว่างการวินิจฉัยและนำไปสู่วิธีคิดแบบระบบ 1
เทคโนโลยีจะช่วยได้หรือไม่
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ไม่ติดกับดักกระบวนการคิดเหมือนมนุษย์ และราวกับว่าเทคโนโลยีจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาการวินิจฉัยบกพร่องดังที่กล่าวมา อีกทั้งยังมีซอฟต์แวร์ต่างๆ สำหรับประมวลข้อมูลโรคเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และในอีกไม่นานนักก็อาจเป็นได้ว่าคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่วินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าแพทย์
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไม่อาจช่วยแก้ปัญหาด้านระบบองค์กรและภาระงานที่แพทย์เผชิญอยู่ในทุกวันนี้ จากผลการวิจัยติดตามการทำงานของแพทย์ตลอด 200 ชั่วโมงทำให้พบคำตอบว่า “เวลา” และ “สถานที่” นั่นเองที่จะช่วยปรับปรุงการวินิจฉัยให้ดีขึ้น และกุญแจสำคัญอยู่ที่การผละจาก “งานยุ่ง” เพื่อที่จะมี “เวลาคิด”
กล่าวคือ การวินิจฉัยในช่วงที่มีเวลาจะช่วยกระตุ้นให้แพทย์ใช้วิธีคิดแบบระบบ 2 อันจะส่งผลดีต่อการสังเคราะห์ข้อมูลและการตัดสินใจ เช่น การคิดตามกรอบ Take 2, Think Do framework ซึ่งแพทย์จะต้องสละเวลา 2 นาทีสำหรับพิจารณาความจำเป็นในการตรวจทานข้อมูลหรือข้อสันนิษฐานและปรับปรุงให้สอดคล้องกัน อีกทั้งแพทย์ยังจำเป็นต้องคิดในสถานที่เงียบสงบปราศจากสิ่งรบกวน แต่จากสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงพยาบาลจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่แพทย์จะสามารถปลีกตัวไปหามุมสงบ
ฉะนั้นการปรับปรุงภาระงานและสถานที่ดังกล่าวจะมีนัยสำคัญต่อการวินิจฉัย ดังที่หนึ่งในแพทย์ผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยเผยว่า เขาเชื่อว่าตัวเองจะวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้นหากว่าเขาพอจะมีเวลาเป็นส่วนตัวสักครู่หนึ่งเพื่อทบทวนรายการคนไข้ รวมถึงตรวจสอบผลตรวจ คำแนะนำ และแผนการรักษา ซึ่งแนวทางนี้อาจมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติงานภายใต้ภาวะตึงเครียดอย่างในห้องฉุกเฉินหรือหน่วยวิกฤติ
ถ้าเช่นนั้น การลดปัญหาการวินิจฉัยบกพร่องและผลกระทบที่ตามมาจึงเป็นไปได้ หากบรรดาแพทย์เดินออกจากวิธีคิดที่ยึดโยงอยู่กับความคิดส่วนตัวและหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอันทันสมัย ก็อาจจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับลดการวินิจฉัยบกพร่องให้น้อยลงและนำไปสู่การยกระดับการรักษาพยาบาลและรักษาชีวิตของคนไข้
เรียบเรียงจาก เว็บไซต์เดอะ คอนเวอร์เซชั่น: Harried doctors can make diagnostic errors they need time to think
ขอบคุณภาพจาก www.shutterstock.com
แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com
- 46 views