เลขานุการเครือข่ายทันตาภิบาล 77 จังหวัดหวั่นงานถอนฟันอุดฟันมีช่องโหว่หากปรับหลักสูตรให้ทันตภิบาลทำงานส่งเสริมป้องกันอย่างเดียว ชี้แนวคิดที่ดีแต่อีก 5 ปีคงยากจะเติมทันตแพทย์ลง รพ.สต.ได้ทัน แถมยังทำให้ทันตาภิบาลรุ่นใหม่ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพเนื่องจากรักษาไม่ได้

นางณัฏฐชญา ศิลากุล เลขานุการเครือข่ายทันตาภิบาล 77 จังหวัด เปิดเผยความคิดเห็น กรณีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนทันตาภิบาลของทันตแพทยสภา ซึ่งจะตัดเรื่องถอนฟันอุดฟันออกแล้วเน้นงานป้องกันส่งเสริมสุขภาพในช่องปากให้มากขึ้น โดยจะเริ่มใช้หลักสูตรดังกล่าวในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า โดยความเห็นส่วนตัวแล้วก็เห็นว่าเป็นความคิดที่ดี เพราะถ้าไม่คิดให้แปลกออกไป งานส่งเสริมป้องกันก็จะไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรมสักที อย่างน้อยก็ได้ทดลองดูว่าระบบนี้จะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังมีทันตาภิบาลในระบบอีกประมาณ 4,000 คนที่ยังสามารถทำการรักษาถอนฟันอุดฟันได้อยู่

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นไปได้ยากที่จะเติมทันตแพทย์ลงไปประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้ครอบคลุมภายใน 5 ปี เพราะตอนนี้แค่ทันตาภิบาลที่จะลงให้ครบทุก รพ.สต.ยังทำไม่ได้เลย ยังลงได้แค่ตำบลละ 1 แห่งด้วยซ้ำ นอกจากนี้ การรักษาในพื้นที่ เมื่อประชาชนมารับบริการแล้วก็ยังต้องการการรักษาถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนอยู่ อีกทั้งเรื่องของงานพื้นฐานอุดฟันถอนฟันโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กมีปริมาณงานเยอะมาก ถ้าจะให้ทันตแพทย์ลงไปรักษางานทั่วไปแบบนี้คงไม่สามารถทำได้ทั่วถึงหรือเพียงพอต่อความต้องการของผู้รับบริการ

“ถ้าอีก 5 ปี สามารถเติมทันตแพทย์ลงใน รพ.สต.ได้หมดก็จะไม่มีปัญหา แต่มองสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ความเป็นไปได้มีน้อยกว่า คือมองแค่จังหวัดของตัวเอง ทันตแพทย์ก็งานหนักอยู่แล้ว ถ้าจะต้องมาทำงานอุดฟันที่ทันตภิบาลสามารถทำได้ มันจะเกิดภาวะงานที่หนักมากสำหรับทันตแพทย์ที่ต้องเจอในอีก 5 ปี” นางณัฏฐชญา กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือหากทันตแพทย์ที่กระจายลงไปตาม รพ.สต. ไหลออกไปอยู่ภาคเอกชนแล้ว ทันตาภิบาลที่ผลิตออกมาตามหลักสูตรใหม่ไม่สามารถทำการรักษาเบื้องต้นได้ งานพื้นฐานอย่างการถอนฟัน อุดฟันก็จะมีช่องโหว่อีกเยอะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นทันตาภิบาลที่ออกปฏิบัติงาน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นห่วงความมั่นคงทางอาชีพของทันตาภิบาลที่เรียนตามหลักสูตรใหม่ เพราะถ้ามีทักษะทำการรักษาได้น้อย ผู้มีอำนาจตัดสินใจในพื้นที่ก็อาจไม่อยากจ้าง

“นี่คือปัญหาที่จะเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจตัดสินใจจ้าง เช่น สาธารณสุขอำเภอ เวลาตัดสินใจจ้าง มันจะมีข้อเปรียบเทียบระหว่างทันตาภิบาลที่ทำการรักษาได้กับทันตาภิบาลที่รักษาไม่ได้ น้องที่จบใหม่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงทางอาชีพ ถ้าแหล่งผลิตไม่ประสานงานกับผู้จ้าง โอกาสไม่จ้างก็จะสูง ยกเว้นจะทำสัญญาให้ชัดว่าจบมาแล้ว น้องที่เรียน 5 ปีข้างหน้าต้องมีงานให้ทำ จะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานกระทรวงก็ว่าไป ไม่ใช่จบมาแล้วเคว้ง” นางณัฏฐชญา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรับหลักสูตรทันตาภิบาล ตัดอุดฟัน-ถอนฟันออก เน้นป้องกันส่งเสริมสุขภาพช่องปาก