บริษัทยาใหญ่ที่สุดของอังกฤษประกาศร่วมมือกับบริษัทเวอริลี ไลฟ์ไซแอนซ์ (Verily Life Sciences) ในเครือของบริษัทแอลฟาเบท (Alphabet) เพื่อพัฒนาแนวทางต่อสู้กับโรคเรื้อรัง

จีเอสเคได้ศึกษาวิจัยการรักษาแบบไบโออิเลคทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อพัฒนานวัตกรรมการรักษาใหม่ ภาพ: บลูมเบิร์ก โดยเกตตีอิมเมจ

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษนำเสนอเรื่องราวความก้าวหน้าของธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการรักษาชีวิตมนุษย์ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงนั่นคือ การรักษาแบบไบโออิเลคทรอนิกส์ โดยบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น หรือ จีเอสเค (GlaxoSmithKline, GSK) ได้ประกาศร่วมมือกับบริษัทแอลฟาเบท หรือที่รู้จักในฐานะเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลเพื่อพัฒนาเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าขนาดจิ๋วสำหรับปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคหอบหืด เบาหวาน และโรคเรื้อรังต่างๆ

จีเอสเคซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของประเทศอังกฤษเปิดเผยถึงการก่อตั้งกิจการร่วมค้ากับเวอริลี ไลฟ์ไซแอนซ์อันเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของแอลฟาเบทเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยด้านการรักษาแบบไบโออิเลคทรอนิกส์ โดยจีเอสเคจะถือหุ้นร้อยละ 55 ในกิจการร่วมค้าแกลวานี ไบโออิเลคทรอนิกส์ (Galvani Bioelectronics) และบริษัทเวอริลีถือหุ้นร้อยละ 45 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของจีเอสเคที่เมืองสตีเวนิจ ในแคว้นฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ถัดไปทางเหนือของกรุงลอนดอน และจะมีศูนย์วิจัยแห่งที่สองตั้งอยู่ในโรงงานของเวอริลีที่นครซานฟรานซิสโกด้วย

โดยทั้งสองบริษัทจะผนวกสิทธิบัตรทางปัญญาและลงขันงบประมาณ 540 ล้านปอนด์ (ราว 24,542 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 7 ปีหากความร่วมมือเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

เดอะการ์เดียน แจงว่าจีเอสเคได้ศึกษาวิจัยการรักษาแบบไบโออิเลคทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อพัฒนานวัตกรรมการรักษาใหม่ หลังจาก Advair อันเป็นการรักษาสำหรับโรคทางเดินหายใจต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากยาต้นแบบ

ที่ผ่านมาจีเอสเคลงทุนไปแล้วถึง 38 ล้านปอนด์ (ราว 1,725 ล้านบาท) สำหรับการวิจัยด้านไบโออิเลคทรอนิกส์และสนับสนุนงบให้กับนักวิจัยภาคสนาม โดยการรักษาแบบไบโออิเลคทรอนิกส์นี้คืออาศัยการปลูกถ่ายเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าขนาดราวเมล็ดข้าวหรือเล็กกว่าไว้ที่เส้นประสาทเพื่อแก้ไขการสื่อสัญญาณไฟฟ้าที่บกพร่องระหว่างระบบประสาทและอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งจีเอสเคเชื่อว่าการปรับสัญญาณสื่อประสาทดังกล่าวจะช่วยขยายหลอดลมในผู้ป่วยหอบหืด ลดการอักเสบของลำไส้ในผู้ป่วยโรคโครห์น และรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นรวมถึงโรคข้ออักเสบ

แม้ว่าที่ผ่านมามีการทดสอบเฉพาะในสัตว์ทดลอง แต่ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาไปสู่การรักษาที่สามารถเสริมหรือใช้แทนยาซึ่งมักก่อให้เกิดผลข้างเคียง   

นอกจากนี้ จีเอสเคและเวอริลี (หรือ กูเกิลไลฟ์ไซแอนส์ ในชื่อเดิม) ยังเปิดเผยว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะผนวกการพัฒนาและองค์ความรู้ด้านชีววิทยาของโรคจากจีเอสเคกับความเชี่ยวชาญของบริษัทเวอริลีในด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดจิ๋ว ข้อมูล และซอฟต์แวร์สำหรับวัตถุประสงค์ทางคลินิก โดยเบื้องต้นบริษัทจะมีบุคคลากรในสังกัดราว 30 คนประกอบด้วยนักวิจัย วิศวกร และแพทย์

ภาพจำลองส่วนขยายของอุปกรณ์ไบโออิเลคทรอนิกส์สำหรับหุ้มรอบกลุ่มเส้นประสาท ภาพ จีเอสเค/พีเอ

เดอะการ์เดียน เผยอีกว่า คริส แฟม หัวหน้าแผนกไบโออิเลคทรอนิกส์ของจีเอสเค กล่าวถึงการรักษาแบบไบโออิเลคทรอนิกส์ว่า มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่นในการประยุกต์ใช้กับโรคที่หลากหลายตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และบริษัทร่วมทุนอย่างเวอริลีจะมีบทบาทเร่งรัดกระบวนการนี้ให้รวดเร็วขึ้นอีก โดยคาดหวังว่าจะสามารถเริ่มการศึกษาวิจัยในคนได้ภายในระยะเวลา 3 ปี

แฟมยังกล่าวอีกว่า จีเอสเคได้พยายามมองหาวิธีที่จะนำเครื่องกระตุ้นไฟฟ้ามาใช้กับเส้นประสาทขนาดเล็กเพื่อพัฒนาเป็นแนวทางใหม่สำหรับให้การรักษา และจะสามารถผลิตเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าขนาดจิ๋วดังกล่าวตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือยิ่งตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็กก็จะยิ่งลดความจำเป็นในการประจุไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้อุปกรณ์มีความแม่นยำมีความน่าสนใจในฐานะทางเลือกการรักษามากยิ่งขึ้น และเขาหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีทางเลือกในการรักษาด้วยไบโออิเลคทรอนิกส์ โดยศัลยแพทย์จะเป็นผู้ลงมือผ่าตัดปลูกถ่ายเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อช่วยให้อวัยวะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ

เมื่อกล่าวถึงบริษัทแกลวานี ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตาม ลุยจิ อะลอยซิโอ แกลวานี นักวิทยาศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 18 เจ้าของผลงานการศึกษาวิจัยการตอบสนองของกบซึ่งปูทางไปสู่การศึกษาด้านประสาทวิทยา

จีเอสเคและเวอริลีหวังให้กิจการร่วมค้านี้สามารถเดินเครื่องได้ภายในสิ้นปีนี้ภายหลังผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบการแข่งขันของสหรัฐอเมริกา ในส่วนทางด้านการบริหาร มนเซฟ ซลาอุย ประธานกลุ่มงานวัคซีนของจีเอสเคจะรับตำแหน่งประธานบริหารของแกลวานี โดยมี แอนดริว คอนราด ซีอีโอของบริษัทเวอริลี และคริส แฟมเป็นส่วนหนึ่งในบอร์ดบริหาร

อย่างไรก็ตาม จีเอสเคยังมีแผนการสนับสนุนงบประมาณกว่า 275 ล้านปอนด์ (ราว 12,505 ล้านบาท) แก่บริษัทลูกในสหราชอาณาจักร และยืนยันที่จะปักหลักดำเนินธุรกิจในอังกฤษต่อไปแม้มีการลงประชามติเห็นชอบให้ถอนตัวจากสหภาพยุโรป โดยเซอร์แอนดริว วิตตี  ซีอีโอของจีเอสเคมีกำหนดเกษียณในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งจะทำให้แกลวานีเป็นบริษัทสุดท้ายที่เขาจะได้กุมบังเหียน

ในขณะที่บริษัทเวอริลีนับเป็นหนึ่งในกิจการระยะยาวที่สำคัญที่สุดของแอลฟาเบท โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนเพื่อบุกเบิกธุรกิจใหม่ ซึ่งรวมถึงเนสท์ (Nest) อันเป็นบริษัทพัฒนาเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ในเดอะการ์เดียนยังรายงานด้วยว่า ไบรอัน โอติส ประธานฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทเวอริลี ระบุว่าการร่วมมือครั้งสำคัญนี้จะเปิดโอกาสให้จีเอสเคและเวอริลีผนึกกำลังเพื่อที่จะมีบทบาทสำคัญในธุรกิจเกิดใหม่ อย่างการรักษาแบบไบโออิเลคทรอนิกส์ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกแนวทางการรักษาใหม่และตระหนักดีว่าการจะบรรลุผลสำเร็จนั้นต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งด้านชีววิทยาของโรคและเทคโนโลยีย่อส่วนอันเป็นกระแสใหม่

เรียบเรียงจาก

เว็บไซต์เดอะการ์เดียน: Google and GSK form venture to develop bioelectronic medicines

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com