รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมศูนย์โรงหัวใจโรงพยาบาลตรัง ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง รับและส่งต่อผู้ป่วยจากสตูล พัทลุง และใกล้เคียง เพิ่มการเข้าถึงบริการและลดอัตราการตาย โดยมีผู้ป่วยเข้ารับบริการปีละเกือบ 4,000 ราย ส่งเสริมการพัฒนา “ชุมชนต้นแบบหัวใจดีเริ่มที่บ้าน” ปรับพฤติกรรมคนในชุมชนที่มีผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตายสูง ตั้งเป้าลดอัตราการตายเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10
วันนี้ (9 กันยายน 2559) พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลตรัง ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์ตติยภูมิโรคหัวใจ มีศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจที่ซับซ้อน ได้แก่ การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ การทําบอลลูนเพื่อถ่างขยายหลอดเลือด การผ่าตัดหัวใจ เพิ่มการเข้าถึงบริการและลดอัตราการตาย ให้บริการรักษาผู้ป่วยในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง รับและส่งต่อผู้ป่วยจากสตูล พัทลุง และใกล้เคียง โดยมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเข้ารับบริการเฉลี่ยปีละเกือบ 4,000 ราย
โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ใน 3 ของพื้นที่ในเขต 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องแบบครบวงจร ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจจํานวนมากที่มีอาการซับซ้อนต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด กระทรวงสาธารณสุขจึงได้พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลตรังให้เป็นศูนย์ตติยภูมิโรคหัวใจตั้งแต่ปี 2552 เริ่มผ่าตัดหัวใจแบบเปิดเมื่อเดือนเมษายน 2557 ผลการดำเนินงานถึงสิงหาคม 2559 ให้บริการ เช่น ทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ เปลี่ยนลิ้นหัวใจ และผ่าตัดหัวใจพิการแต่กำเนิด รวม 255 ราย
สำหรับห้องตรวจสวนหัวใจเปิดบริการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้รับการประเมินเป็นห้องตรวจสวนหัวใจระดับ 1 เมื่อกุมภาพันธ์ 2559 ข้อมูลให้บริการถึง กรกฎาคม 2559 รวม 1,153 ราย ได้แก่ ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเพื่อการวินิจฉัย/ผ่าตัด 554 ราย ขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดปฐมภูมิ 313 ราย ขยายหลอดเลือดหัวใจ 309 ราย ขยายหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยได้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วไม่สามารถเปิดหลอดเลือดได้ 5 ราย ใส่เครื่องพยุงหัวใจ 111 ราย นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาให้โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดตรังสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้และเป็นเครือข่ายวาร์ฟาริน
ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราตายของผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันให้ได้มากที่สุด ตั้งเป้าลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งขณะนี้ยังสูงถึงร้อยละ 14 สาเหตุมาจากความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีภาวะอุดตันตั้งแต่ 2 เส้น ทําให้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือช็อกร่วมด้วย จึงได้ทําโครงการ “ชุมชนต้นแบบ: หัวใจดีเริ่มที่บ้าน” เลือกชุมชนที่มีผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตายสูงจำนวน 4 ชุมชนเป็นต้นแบบส่งเสริมป้องกันโรค ดำเนินการดังนี้
1.คัดกรองกลุ่มเสี่ยงและเน้นการดูแลปรับพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นโรคหัวใจ
2.รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนทุกคนทราบว่าโรคเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันต้องรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดความพิการได้
3.ประชาชนสามารถช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานกรณีผู้ป่วยโรคเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีภาวะหัวใจหยุดเต้นที่บ้านได้
4.ชุมชนสามารถดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเมื่อกลับบ้านและร่วมปรับสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้และเอื้อต่อการปรับพฤติกรรมสุขภาพ
โรงพยาบาลตรัง มีขนาด 551 เตียง ดูแลประชากรรวม 1,783,530 คน เป็นสถานศึกษาร่วมผลิต และรับผิดชอบฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- 379 views