บทนำ
ระบบสาธารณสุขของไทยเป็นระบบที่ก้าวหน้าที่สุดระบบหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle-income countries) เป็นตัวอย่างสำหรับหลายๆ ประเทศ ที่ให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึง มีหน่วยบริการและบุคลากร ตั้งแต่ อสม. หมออนามัย ทีมสหวิชาชีพ ตลอดจนแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ กระจายสู่ทุกระดับ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ และจังหวัด แต่ทว่าในปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทยกำลังเผชิญสิ่งที่ท้าทายหลายด้าน อาทิ ความเหลื่อมล้ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โลกเชื่อมต่อการค้าการลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ยาเวชภัณฑ์และเทคโนโลยี ที่มีราคาแพง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ คุณภาพบริการ ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัญหาของระบบบริการสาธารณสุขไทย
ปัจจุบัน ระบบบริการสาธารณสุขของไทยขับเคลื่อนด้วยโรงพยาบาลขนาดใหญ่และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เน้นการใช้ยาราคาแพง เทคโนโลยีชั้นสูง ดูแลเฉพาะโรค เฉพาะอวัยวะ ไม่เป็นองค์รวม เกิดความแออัด ใช้เวลานานในการรอรับบริการ ส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจในการรับบริการของพี่น้องประชาชน โดยที่ผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้น มากกว่าครึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคพื้นฐาน ไม่จำเป็นต้องมารับบริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เหล่านั้นเลย
ระบบบริการสาธารณสุขที่ดีควรมีรูปแบบเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงปิรามิด ที่มีระบบบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพเป็นฐานล่าง เน้นงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคฟื้นฟูสุขภาพ รักษาโรคเรื้อรัง โรคพื้นฐาน และดูแลแบบองค์รวม ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือเทคโนโลยีราคาแพง
พื้นที่ตรงกลางของสามเหลี่ยมเป็นการดูแลขั้นทุติยภูมิ
ปลายแหลมคือระบบบริการระดับตติยภูมิและศูนย์ความเป็นเลิศ (excellent center) ที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ รับส่งต่อผู้ป่วยมาจากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ
แต่ขณะนี้ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยกลับเป็นสามเหลี่ยมทรงปิรามิดหัวกลับตั้งบนยอดสามเหลี่ยมทำให้มีโอกาสล้มได้ตลอดเวลา
แนวคิดในการปฏิรูประบบ
ด้วยนโยบายการปฏิรูปของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2559 มาตรา 258 ช. (5) “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” กระทรวงสาธารณสุขโดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตรียมพร้อมปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขของไทย ด้วยการจัดตั้ง “คลินิกหมอครอบครัว (PCC: Primary care cluster)” ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (family doctor) และทีมสหวิชาชีพ ดูแลประชาชน 10,000 คนต่อหนึ่งทีม เพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนทั่วประเทศ ภายใน 10 ปี
คลินิกหมอครอบครัวและทีมหมอครอบครัว
รูปแบบ “คลินิกหมอครอบครัว” นี้ กระทรวงสาธารณสุขนำรูปแบบมาจากประเทศแถบยุโรปที่มีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง เช่น อังกฤษ สวีเดน เบลเยี่ยม เนธอร์แลนด์ รวมทั้งเอเชียบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวดูแลพี่น้องประชาชนทุกคน แล้วนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย โดยสร้าง “ทีมหมอครอบครัว” ที่ประกอบด้วย หมออนามัย พยาบาลวิชาชีพ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด สหวิชาชีพต่างๆ และแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ร่วมดูแลพี่น้องประชาชน
แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (family doctor) คือ แพทย์ที่จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต 6 ปี ทำงานเพิ่มพูนทักษะ แล้วมาเรียนต่ออีก 3 ปี เช่นเดียวกับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ จะมีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาแบบองค์รวม ทั้งร่างกายจิตใจ ทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ใกล้ชิดประชาชน มีพื้นที่รับผิดชอบดูแลประชาชนอย่างชัดเจน (catchment area) และยังทำงานโดยยึดหลัก “บริการทุกคน บริการทุกอย่าง บริการทุกที่ บริการทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”
บริการทุกคน คือ ดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ วัยทารก วัยเด็กนักเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยสูงอายุ
บริการทุกอย่าง คือ ส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค
บริการทุกที่ คือ ทำงานในที่ตั้งคลินิกหมอครอบครัว ทำงานเชิงรุกให้บริการที่บ้าน และในชุมชน
บริการทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี คือ ให้คำปรึกษา ประชาชนสามารถสอบถามปัญหาเรื่องป้องกันรักษาและยามเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยการปรึกษาทางสื่อออนไลน์ เช่น Line Facebook แล้วมีทีมหมอครอบครัวเข้าให้คำปรึกษา เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น องค์การอนามัยโลกยังได้อธิบายถึงความแตกต่างของการดูแลโดยแพทย์ในแผนกผู้ป่วยนอกกับคลินิกหมอครอบครัว ดังนี้
ตารางที่ 1 ความแตกต่างระหว่างการดูแลผู้ป่วยนอกในปัจจุบันกับคลินิกหมอครอบครัว
ปรับจาก The World Health Report 2008, WHO
ปี 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ทดลองนำร่องไปแล้ว จำนวน 48 ทีมในเขตเมือง ใน 16 จังหวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ
ในปี 2560 จะเปิดดำเนินการในเขตเมืองโดยโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งทั่วประเทศ และในเขตชนบท จังหวัดละ 1 แห่ง ทั้ง 76 จังหวัด รวมเป็น 472 ทีม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ในปี 2564 ตั้งเป้าหมายให้ได้ครึ่งประเทศ หรือจำนวน 3,250 ทีม
และในปี 2569 จำนวน 6,500 ทีม ครอบคลุมทั่วประเทศ
ประชาชนจะได้อะไร
สิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากคลินิกหมอครอบครัว คือ ประชาชนจะมีหมอประจำตัวเสมือนญาติคนหนึ่ง มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ ดูแลสุขภาพทั้งครอบครัวแบบองค์รวม ต่อเนื่อง เชิงรุก ครอบคลุมทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภค มีหน่วยบริการใกล้บ้าน สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องไปแออัดรอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และที่สำคัญพี่น้องประชาชนคือหุ้นส่วน (partner) กับทีมหมอครอบครัวที่ต้องร่วมดูแลสุขภาพของตนเองและชุมชน
บทสรุป
คลินิกหมอครอบครัวเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย และเป็นการส่งแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวลงปฏิบัติงานในระดับตำบลเพื่อดูแลคนไทยทุกคนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ครอบคลุมคนไทยทั่วทั้งประเทศภายใน 10 ปี และหากสามารถทำได้สำเร็จ จะเป็นการพลิกโฉมหน้าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอีกครั้ง สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2559 ที่เพิ่งผ่านประชามติต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
และจะเป็นการพลิกกลับสามเหลี่ยมการให้บริการของระบบสาธารณสุขไทยที่ปัจจุบันตั้งบนยอดสามเหลี่ยม ให้กลับมาวางบนฐานของสามเหลี่ยมด้านกว้างเพื่อความมั่นคงแข็งแรงของระบบสาธารณสุขไทย ไม่เพียงจะส่งผลต่อการลดเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด เพิ่มคุณภาพการบริการ ที่สำคัญยังส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข ลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในระยะยาวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คลินิกหมอครอบครัวและทีมหมอครอบครัวจะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ องค์กรภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน อย่างแท้จริง ต่อไป
ผู้เขียน: นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- 683 views