สบส.ชูศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน บ้านรางกะพอน ต.ทุ่งทอง จ.กาญจนบุรี เป็นตัวอย่างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการสุขภาพโดยทีม อสม. 23 คน หลังดำเนินการตั้งแต่ปี 46 เป็นต้นมา พบความสำเร็จ เช่น เป็นศูนย์บริการสุขภาพ 24 ชั่วโมง ไม่มีคนป่วยโรคไข้เลือดออกติดต่อกัน 7 ปี ไม่มีผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงรายใหม่  นำภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นตะไคร้หอม ใบเมล็ดน้อยหน่า มาใช้แทนสารเคมีได้ผลดีมาก ตั้งเป้าขยาย ศสมช.ในปี 2560 จำนวน 6,469 แห่งทั่วประเทศ เป็นที่พึ่งด่านแรกของคนในชุมชน   

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน ตรวจเยี่ยมศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ที่หมู่ 7 บ้านรังกะพอน ต.ทุ่งทอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี และรับฟังการบรรยายดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในศูนย์ ศสมช. ซึ่งได้เปิดให้บริการชุมชนตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน นับเป็นสถานบริการสุขภาพเบื้องต้นประจำชุมชนในการสร้างสุขภาพดี ดำเนินงานโดย อสม.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนซึ่งขณะนี้มี 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 10-15 คนเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา มีจำนวน 60,000 กว่าแห่งครอบคลุมทุกชุมชน เป็นจุดแข็งระบบสาธารณสุขไทยที่มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานร่วมกับภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาประชาชนละเลยดูแลสุขภาพตนเอง เมื่อเจ็บป่วยจึงไปพึ่งโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่โรคที่ป่วยร้อยละ 80 เป็นโรคทั่วๆ ไป ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลแน่นแออัด การพึ่งพิง ศสมช.ลดน้อยลงเรื่อยๆ  ดังนั้น สบส.มีนโยบายพัฒนา ศสมช.ให้มีความเข้มแข็ง ในปี 2560 นี้ ตั้งเป้าหมายจำนวน 6,469 แห่ง เพื่อให้เป็นสถานบริการสาธารณสุขของชุมชน

ศสมช.จะทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน โดยทำหน้าที่หลัก 3 ด้าน ได้แก่

1.ให้บริการดูแลรักษาโรคง่ายๆ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ชาวบ้านฟรี โดยใช้ยาสามัญประจำบ้านและใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่น การนวดหรือใช้สมุนไพรมาแก้ปัญหาสุขภาพของชุมชน 

2.เป็นศูนย์และเปลี่ยนเรียนรู้

และ 3.ดำเนินงานเชิงรุก เช่น ตรวจคัดกรองโรค อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม เป็นต้น 

โดยสนับสนุนเครื่องมือในการทำงานให้ ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้แพ้ ยารักษาแผล เป็นต้น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องชั่งน้ำหนัก ที่วัดส่วนสูง ปรอทวัดไข้ สายวัดรอบเอว ชุดทำแผล แถบตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ ที่วัดสายตา โมเดลฟันสำหรับสาธิตการแปรงฟันที่ถูกวิธี โดยจะเสริมทักษะให้ อสม.ที่ปฏิบัติงานใน ศสมช.เป็นกรณีพิเศษ ประชาชนทุกระดับเข้าถึงบริการ 24 ชั่วโมง, ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศฯ โดย อสม.สามารถเชื่อมโยงการทำงานกันตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ จนถึงระดับจังหวัด ประเทศได้และทำงานร่วมกับทีมหมอครอบครัวของ รพ.สต.ในการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน  

สำหรับการดำเนินงานของ ศสมช.บ้านรางกะพอน นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการสุขภาพโดยประชาชน มี อสม.ดำเนินการ 23 คน ดูแลประชาชนทั้งหมด 541 คน 149 หลังคาเรือน มีผู้สูงอายุ 78 คน พิการ 7 คน ผู้ป่วยติดบ้าน 4 คน เป็นโรคความดันโลหิตสูง 25 คน เป็นโรคเบาหวานและความดัน 20 คน มีการจัดเวร อสม.ให้บริการ ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. โดยจะมีบริการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ทำแผลจ่ายยา และอำนวยความสะดวกผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จะต้องติดตามผลการรักษาที่ รพ.สต.บ้านกร่างทอง โดยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้ว วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอวก่อนที่จะไป รพ.สต.บ้านกร่างทอง ทำให้ลดภาระของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. รวมทั้งผู้ป่วยไม่ต้องอดอาหาร เสียเวลารอคอยนาน ทำให้ผู้ป่วยไม่เครียดสะดวกสบาย ตลอดจนสำรวจความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพ

ที่สำคัญ ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชน อาทิ นำขวดยาคูลท์ที่ใช้แล้วมาใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย นำยางรถยนต์เก่ามารีไซเคิลเป็นกระถางดินปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จัดตั้งธนาคารปลาหางนกยูง ทำให้ชุมชนปลอดโรคไข้เลือดออกมากกว่า 7 ปี และนำภูมิปัญญาพื้นบ้านลดการใช้สารเคมี เช่น ใช้ใบหรือเมล็ดน้อยหน่าตำละเอียดผสมน้ำมันมะพร้าวหมักผมฆ่าเหา กลั่นน้ำตะไคร้หอมทำสเปรย์ฉีดไล่ยุง และธนาคารจักรยานทำให้ไม่มีผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงรายใหม่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ รพ.สต.บ้านกร่างทอง ลดลงเหลือประมาณวันละ 10 กว่าคน