สำหรับโรงพยาบาลที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มักจะประสบปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ไร้สิทธิในกลุ่มต่างๆ และแรงงานต่างด้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถจะเบิกจ่ายจากรัฐบาลได้ หรือสามารถเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นได้ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวส่วนมากมีฐานะที่ยากจน ซึ่งส่งผลให้หลายโรงพยาบาลในพื้นที่รอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้านประสบปัญหาหนี้สูญไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ และการบริหารจัดการของโรงพยาบาลนั้นๆ
พญ.โมไนยา พฤทธิภาพย์
พญ.โมไนยา พฤทธิภาพย์ ผอ.รพ.คลองใหญ่ จ.ตราด กล่าวว่า ด้วยความที่จังหวัดตราดมีพื้นที่ติดกับ จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา อีกทั้งยังถูกคัดเลือกให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาเรื่องของสุขภาพอนามัยของแรงงานต่างด้าวและชาวบ้านในพื้นที่
ผอ.รพ.คลองใหญ่ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีปัญหาด้านสาธารณสุขตามมา คือ ยาเสพติด การตั้งครรภ์ และโรคระบาดตามแนวชายแดน และขาดแคลนแพทย์ทางด้านสูตินารี การให้บริการทางการแพทย์ของ รพ.คลองใหญ่ สำหรับชาวกัมพูชาพบว่า มีทั้งที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และและหลบหนีเข้าเมืองมา อีกทั้ง รพ.คลองใหญ่ยังต้องรับผู้ป่วยที่ส่งต่อจากจังหวัดเกาะกงในกรณีที่มีการเจ็บป่วยมากเกินศักยภาพของ รพ.เกาะกงได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยคิดเป็นผู้ป่วยนอกร้อยละ 30 และผู้ป่วยในคิดเป็นร้อยละ 70
"ที่ผ่านมา พบว่า ชาวกัมพูชาให้ความเชื่อมั่นในระบบการรักษาของไทย ผู้หญิงกัมพูชาส่วนมากจึงนิยมมาคลอดที่ รพ.คลองใหญ่ แต่ปัญหาที่พบว่า หญิงตั้งครรภ์เหล่านี้ไม่นิยมฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย ส่วนมากก็จะใกล้คลอดแล้ว เพื่อมาคลอดบุตรฟรี ซึ่งในแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 200 ราย ในจำนวนนี้ยังพบมีผู้คลอดผิดปกติอีกเป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน ทาง รพ.คลองใหญ่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกหน่วยงานต้นสังกัดได้เฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ รพ.คลองใหญ่ยังมีนโยบาย ส่งตัวผู้ป่วยต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษาที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินกลับ รพ.เกาะกง เพื่อให้กลับไปรับยาต่อเนื่องฟรีที่ รพ.เกาะกง โดยมีการประสานงานกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วย และแบบฟอร์มส่งต่อร่วมกันระหว่างจังหวัดตราด และจังหวัดเกาะกง เพื่อให้ผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายไปมาระหว่าง 2 ประเทศสามารถได้รับยาต่อเนื่องจนครบตามแนวทางการรักษา เพื่อลดปัญหาการดื้อยา ขาดยา และการแพร่ระบาดของโรค
เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในช่วงแรกทาง รพ.คลองใหญ่ จึงได้ออกแบบให้มีการซื้อบัตรประกันสุขภาพสำหรับผู้คลอดต่างด้าวแบบออมล่วงหน้า คิดราคาเหมารวมในราคา 3,000 บาท และให้ผ่อนชำระได้จนถึงก่อนคลอด ผู้ซื้อจะได้บริการตั้งแต่การฝากครรภ์และคลอดบุตร จนถึงการดูแลหลังคลอดและการให้บริการวัคซีนแก่เด็ก ผลปรากฎว่า ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีมากถึงปีละมากกว่า 100 คน ต่อมาได้เพิ่มราคาเป็นปีละ 5,000 บาท ผลตอบรับก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่งผลให้มารดาต่างด้าวและทารกมีความปลอดภัย และลดปัญหาหนี้สูญที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จากคนต่างด้าว และยังมีการขายบัตรสุขภาพ ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ซื้อให้กับลูกจ้าง จากนั้นจะไปหักเงินเดือนจากลูกจ้างกันเอาเอง ในปี 2557 ได้มีการซื้อบัตรสุขภาพรวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 4-5 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า ปัญหาเรื่องการสื่อสารยังเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้ให้และผู้รับบริการ และชาวกัมพูชาในระดับแรงงานส่วนมากอ่านหนังสือไม่ออก ทาง รพ.คลองใหญ่จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาออกแบบซองยาให้มีทั้งภาษาไทย อังกฤษ กัมพูชา หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องมีรูปภาพประกอบ และยังต้องมีล่ามเข้ามาช่วยในการสื่อสาร ทาง รพ.คลองใหญ่
มีเภสัชกร ที่สามารถพูดภาษากัมพูชาได้ ขณะเดียวกันปัญหาด้านการสื่อสารยังเป็นปัญหาในระบบการส่งต่อผู้ป่วยอีกด้วย
ผอ.รพ.คลองใหญ่ กล่าวว่า เพื่อการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่ยั่งยืนระหว่าง 2 ประเทศ จึงต้องมีการพัฒนาในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.พัฒนางานระดับชุมชน โดยมีประเทศไทยเป็นผู้ให้องค์ความรู้ 2.งานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ 3.งานด้านความปลอดภัยในอาหาร โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 4.งานด้านโรคติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ และ 5.งานด้านการบริหารโรงพยาบาล
และในปี 2558 สสจ.ตราดได้รับงบประมาณจากกรมเอเซียตะวันออก กระทรวงต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพ รพ.เกาะกงอย่างต่อเนื่องในด้านความรู้และทักษะในการรักษาพยาบาล เพื่อให้ รพ.เกาะกงสามารถเป็นที่พึ่งพิงของชาวกัมพูชาได้อย่างยั่งยืน ส่วนงานด้านบุคลากรด้านสุขภาพของทั้ง 2 ประเทศยังต้องมีการร่วมมือควบคุมและป้องกันโรคติดต่อและอุบัติภัยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
- 136 views