ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ให้รายละเอียดชัดว่ายังมีแรงงานข้ามชาติที่ไร้หลักประกันสุขภาพจำนวนมาก และบางส่วนแม้ว่าจะเข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมายและสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ แต่ก็ใช่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้รับการดูแลอย่างดี คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเทียบเท่าคนไทยทุกประการ

สำหรับ “ตอนจบ” ของรายงานพิเศษชุด “ทำความรู้จักแรงงานข้ามชาติในไทย พลเมืองชั้น 2 – สุขภาพชั้นล่างสุด” อธิบายชัดถึง“ข้อจำกัด” และวิธีคิดแก้ปัญหาสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่เป็นกระบวน จึงยากที่จะหวังผลเลิศได้อย่างแท้จริง

#ปัญหาที่โรงพยาบาลเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งสามารถจำแนกปัญหาได้ 6 ข้อใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1.บุคลากรไม่เพียงพอให้บริการ ทั้งสำหรับคนไทยและคนต่างด้าว 2.มีปัญหาด้านภาษาสำหรับการสื่อสารกับคนต่างด้าว 3.อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยต่างด้าวสูง โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ป่วยเหล่านี้ได้เพราะเป็นแรงงานใต้ดินและไม่มีหลักประกันสุขภาพ

4.แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจเรื่องการเลือกสถานพยาบาลและการใช้สิทธิ 5.พบทั้งโรคติดเชื้อและโรคเรื้อรังในแรงงานข้ามชาติ เช่น วัณโรคที่ดื้อยา โรงเท้าช้าง มาลาเรีย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเอดส์ 6.อนามัยแม่และเด็กของคนต่างด้าวมีปัญหา พบว่าทารกแรกคลอดต้องเข้าไปอยู่ในห้องดูแลพิเศษจำนวนมาก และมารดาจำนวนหนึ่งก็ต้องอยู่ในห้องดูแลพิเศษเช่นกัน

นอกจากนี้ มีการประเมินว่าเมื่อถึงปี 2558 ซึ่งเปิดประชาคมเอเซียนนั้น จะเกิดปัญหาอีก 2 ประการใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ศูนย์พักพิงชั่วคราวจะถูกยุบ บุคลากรสาธารณสุขจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคยช่วยให้บริการสุขภาพระดับต้นในศูนย์พักพิงจะถอนตัวไป ทำให้ประชากรที่เคยอาศัยในศูนย์พักพิงรวมกับประชากรในเขตประเทศเพื่อนบ้านจะข้ามมาใช้บริการสถานบริการของไทย 2.โรคระบาดต่างๆ ที่แฝงอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนอาจเข้าสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น

# ทางออกที่เป็นธรรมและเป็นไปได้กำลังจะมาถึง

สิ่งที่ท้าทายในการบริหารจัดการด้านสุขภาพของคนต่างด้าวและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยคือการปรับวิธีคิดให้มองว่าคนต่างด้าวและแรงงานข้ามชาติคือประชากรส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมไทย และตั้งแต่พ.ศ.2548 เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่งได้พยายามผลักดันยุทธศาสตร์การบริการสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว

เสนอให้มีการจัดระบบกองทุนประกันสุขภาพต่างหากสำหรับแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขและอาจขยายการซื้อประกันสุขภาพไปยังผู้ติดตามและแรงงาน “กลุ่มใต้ดิน” ด้วย แต่ชะงักไปเนื่องจากเกิดรัฐประหารปี 2549

อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี 2555 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ในฐานะองค์กรที่ศึกษาผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพจากแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและที่อาจเกิดต่อเนื่องไปในอนาคตอันใกล้ต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพดังนี้

1.ศึกษาระเบียบเพื่อรองรับการจ้างงานบุคลากรต่างชาติมาให้บริการในประเทศไทย โดยเฉพาการจ้างล่ามในลักษณะของลูกจ้างชั่วคราวของรัฐบาล และการนำเข้าแพทย์และพยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาให้บริการคนต่างด้าวในลักษณะการออกใบอนุญาตให้เฉพาะกรณีในเขตพื้นที่ และระยะเวลาที่กำหนดชัดเจน

2.พัฒนาระบบค่าตอบแทนตามภาระงาน เพื่อสนองตอบภาระงานหนักของบุคลากร 3.สำรวจและวิจัยเพื่อคาดการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวและการขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพจากภาระงาน เพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตบุคลากรแก้ไขปัญหาในอนาคต

เมื่อต้นปี 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 15 ม.ค.อนุมัติให้ “กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการให้การดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยคนต่างด้วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ว่า ภายในเดือนพ.ค.2556 จะเปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถซื้อประกันสุขภาพจาก สธ.ได้ ทั้งตัวแรงงานและบุตรหลาน โดยไม่เลือกว่าผู้ทำประกันจะเป็นผู้เข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมาย โดยหากเป็นเด็กจะคิดเบี้ยประกันวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท รวมการตรวจโรค แต่สำหรับผู้ใหญ่ต้องผ่านการตรวจโรค 600 บาท ก่อน จึงจะสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้

การบังคับให้แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ นับว่าเป็นรายได้ที่มาช่วยลดภาระของสถานพยาบาลได้ชัดเจน ดังการศึกษาเมื่อปี 2548-2549 พบว่า เงินที่ได้จากการประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาตินั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการให้บริการ แม้จะคำนวณรายได้จากจำนวนบัตรประกันสุขภาพเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปีนั้นๆ ก็ตาม

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบของแรงงานข้ามชาติต่อระบบบริการสุขภาพ การให้แรงงานข้ามชาติทุกคนและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลทุกประเภทสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพ จะทำให้รายได้รวมของกองทุนนี้ใหญ่มากพอ เชื่อว่าจะลดปัญหาค่าใช้จ่ายที่ติดลบของโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งยังมีเม็ดเงินเหลือพอจ้างบุคลากรเพิ่มเติม ตามจำนวนผู้มาใช้บริการจริงได้ด้วย

ทั้งหมดคือบทสรุป “สุขภาพคนไทย” ปี 2556 ฉบับครบรอบ 1 ทศวรรษ ซึ่งสังเคราะห์ข้อมูลโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จัก “แรงงานข้ามชาติ” ในไทย พลเมืองชั้น 2 - สุขภาพชั้นล่างสุด (ตอนที่1)

ทำความรู้จัก “แรงงานข้ามชาติ” ในไทย พลเมืองชั้น 2 – สุขภาพชั้นล่างสุด (ตอนที่2)