ชง คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 ตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” คุมทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศ บูรณาการงานด้านสุขภาพ เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ระบุ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.สธ.เป็นรองประธาน และ ปลัด สธ.เป็นเลขานุการ ขณะที่ประชุมห่วงซ้ำซ้อนบทบาทหน้าที่ คสช. แนะ 3 ทางเลือก นำกลับวิเคราะห์ประเด็นรูปเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้นำเสนอกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพ ตามข้อเสนอของของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ในการจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อการอภิบาลระบบบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่” (National Health Policy Board: NHPB) เพื่อกำหนดนโยบาย เป้าหมาย ทิศทางการให้บริการสุขภาพ การควบคุมคุณภาพ/มาตรฐานการให้บริการสุขภาพ รวมทั้งกำหนดบทบาท/หน้าที่หน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพ ภายหลังจากที่ได้จัดประชุมระดมความเห็นสาธารณะ 4 ภาค

ทั้งนี้อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ มีดังนี้

1.กำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศ ตลอดจนกลั่นกรองนโยบายสำคัญก่อนนำเสนอ ครม.เช่น นโยบายด้านระบบบริการสุขภาพ ด้านกำลังคง ด้านระบบข้อมูลสุขภาพ ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และด้านการเงินการคลังสุขภาพ เป็นต้น

2.เชื่อมโยง บูรณาการการดำเนินการด้านสุขภาพในประเด็นที่กำหนดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

3.ดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

4.ให้ความเห็นแผนงบประมาณด้านสุขภาพของทุกส่วนราชการ ที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ

5.กำกับ ติดตาม ประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามนโยบายหลักและสำคัญด้านสุขภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

6.ให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายและกฎระเบียบที่มีผลต่อสุขภาพที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ

7.ให้ความเห็นต่อรัฐบาลในกรณีพันธะสัญญาระหว่างประเทศ แผนงานโครงการ และระเบียบข้อกฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ

8.แต่งตั้งอนุกรรมการ และคณะทำงานตามความเหมาะสม

9.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

สำหรับการดำเนินงาน จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆ ในระบบสุขภาพตามรายละเอีดยข้างต้น ตามที่ “คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาประเด็น” ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่รับเรื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดประเด็นสำคัญนำเสนอ อาทิ ประเด็นที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ใช้งบประมาณสูง อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ต้องการความร่วมมืออย่างเข้มข้น เป็นต้น

องค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.สาธารณสุขเป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ และมีกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ดังนี้ ผู้แทนภาครัฐ 12 คน ผู้แทนภาคประชาสังคมและเอกชน 5 คน ผู้แทนท้องถิ่น 4 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพ 8 คน ผู้แทนหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง (ตระกูล ส.) 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และชุมชน 4 คน รวมทั้งสิ้น 42 คน

คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาประเด็น มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ 2 คน ผู้แทนภาคประชาสังคม 1 คน ผู้แทนหน่วยงาน 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน

นอกจากนี้ยังเสนอจัดทำร่าง พ.ร.บ.เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขฯ พิจารณาดำเนินการโดยคณะทำงาน หรือจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ ภายในเดือนธันวาคม 2559 เพื่อดำเนินการเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพได้เรียบร้อย

อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งอาจซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยให้มีการวิเคราะห์ประเด็นและเสนอรูปแบบกลไกที่เหมาะสมในการบูรณาการนโยบายด้านสุขภาพให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินฯ พิจารณาอีกครั้ง โดยมีรูปแบบและข้อดีข้อด้อยของทางเลือกความเป็นไปได้ 3 ทางเลือก คือ

ทางเลือกที่ 1 ปรับโครงสร้างและกลไกของ คสช.และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อขยายบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องตั้งกลไกใหม่

ทางเลือกที่ 2 ตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่กลไกบูรณาการนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ โดยให้ คสช.มาอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติ เนื่องจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด มีศักดิ์เท่าเทียมกัน

ทางเลือกที่ 3 ตั้งกลไกคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยต้องทำให้เกิดความชัดเจนในส่วนของอำนาจหน้าที่และความซ้ำซ้อนระหว่างคณะกรรมการชุดนี้กับ คสช.

ทั้งนี้ในการประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขณฯ ยังได้นำเสนอข้อแตกต่งระหว่างคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ตามที่ระบุข้างต้น และ คสช. โดยอำนาจหน้าที่ของ คสช. คือการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบ เสนอแนะหรือให้คำปรึกษา ครม.เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ จัดให้มีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ส่งเสริมให้มีกระบวนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชาติ และผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการ

ขณะที่องค์ประกอบ คสช.มี 6 กลุ่ม คือ รัฐมนตรีไม่เกิน 5 กระทรวง ได้แก่ ก.มหาดไทย ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ก.เกษตรและสหกรณ์ ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ก.อุตสาหกรรม ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้แทน อปท. ผู้แทนสภาวิชาชีพ ผู้แทนคณะกรรมการวิชาชีพโรคศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ด้าน ผู้แทนประชาสังคม 13 เขต โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.สาธารณสุขเป็นรองประธาน เลขาธิการ สช.เป็นเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการ คณะทำงานเฉพาะพื้นที่และประเด็น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งยกร่างกฎหมายตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติให้เสร็จ ต.ค.นี้

เปิด 2 ทางเลือกคุมนโยบายสุขภาพชาติ ‘ตั้งซุปเปอร์บอร์ดชุดใหม่ vs ปรับโครงสร้าง คกก.สุขภาพ’

‘หมอเจตน์’ หนุนตั้ง NHPB คุมนโยบายสุขภาพภาครัฐ-เอกชน ลดความซ้ำซ้อน

“หมอมงคล” หนุนตั้ง NHPB แต่ท้วง สธ.ไม่ควรเป็นแกนนำขับเคลื่อน เหตุผลประโยชน์ทับซ้อน