“หมอปิยะสกล” เปิดประชุมรับฟังความเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2559 เน้นความร่วมมือทุกภาคส่วน สู่การพัฒนา “ประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน” ใช้กลยุทธ์สร้างความเป็นเลิศ 4 ด้าน ย้ำชัด ไม่มีล้ม ไม่มียึด ชี้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นของประชาชน ขณะที่บรรยากาศเวทีรับฟังความเห็นคึกคัก ทั้งตัวแทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ อปท. นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 450 คน
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร – เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไป จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2559 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีวัตถุประสงค์สำคัญในการรวบรวมความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุข และพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการระดับเขต และภาคประชาชน จากทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 450 คน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มต้นขึ้นในปี 2545 หรือ 15 ปีมาแล้ว และเมื่อมาถึงจุดนี้คงต้องดูสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงปัจจุบัน โดยเหลียวหลังศึกษาสิ่งที่ผ่านมา เพื่อมองอนาคตและมุ่งไปข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. คือ “ประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน” และไม่เคยมีคำกล่าวล้มระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่มีการยึดระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเป็นระบบของประชาชน ไม่มีใครมายึดหรือล้มได้หากเข้าใจร่วมกัน ขณะที่คำว่า “ก้าวไกลไปด้วยกัน” คือสิ่งที่เราต้องทำร่วมกันอย่างวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ซื้อบริการ หรือผู้ให้บริการ ซึ่งต่างทำหน้าที่เพื่อความสมดุลนำไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน
ขณะนี้ประเทศไทยมีนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ในแง่ของระบบสุขภาพ คือ การดำเนินการระบบสุขภาพบนพื้นฐานของการสร้างคุณค่า ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศอาจสูงถึง 4 แสนล้านบาท และนับวันยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นทำอย่างไรให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณค่าและทำประโยชน์โดยเฉพาะให้กับประชาชนได้มากที่สุด แต่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการแพทย์รุดหน้าจนตามไม่ทัน ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นหากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่า และทำให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพจำนวน 4 แสนล้านบาทเพียงพอได้ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นเวทีหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันและพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ได้
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากนโยบายที่ชัดเจนทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. คือ ประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน ถือเป็นข้อความสำคัญ โดยมีกลยุทธ์ของการนำไปสู่ความสำเร็จ คือ การพัฒนาความเป็นเลิศระบบสุขภาพใน 4 ด้าน คือ
1. ความเป็นเลิศด้านการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ที่เป็นหัวใจสำคัญระบบสุขภาพของประเทศ โดยเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกลุ่มวัย ทั้งด้านอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพสถานบริการทั้งหมด รวมถึงทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง
2.ความเป็นเลิศด้านการรักษา แม้ว่าจะมีการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพที่ดี แต่ในที่สุดย่อมต้องเกิดความเจ็บป่วย จึงต้องมีระบบบริการรักษาพยาบาลเพื่อรองรับ โดยต้องมีการพัฒนาและสร้างภาคีเครือข่ายการบริการที่ชัดเจน โดยจับมือกับหน่วยบริการทุกสังกัดเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ที่ต้องเดินไปด้วยกันที่เรียกว่า “ประชารัฐ”
3. ความเป็นเลิศด้านบุคลากรสุขภาพ ซึ่งต้องเดินควบคู่กับความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาล ที่ต้องมีแผนการพัฒนาและผลิตที่ชัดเจน เพื่อให้เพียงพอต่อการบริการประชาชน โดยเฉพาะระบบแพทย์ปฐมภูมิซึ่งถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างชัดเจน และที่ผ่านมาได้มีนโยบายการเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครังลงไปถึงระดับตำบล โดยมีเป้าหมาย 1 ต่อประชากร 10,000 คน
4. ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ผ่านมามีความพยายามใช้ราคากลางเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Fee schedule) จนถึงวันนี้เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ ซึ่งหากมีความร่วมมือจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั้งหมด จะทำให้เป็นระบบที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างมากในการดูแลประชาชนในช่วงวิกฤตฉุกเฉิน
“ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.มีการทำงานกันอย่างใกล้ชิด ปัญหาข้อติดขัดที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขร่วมกันอย่างรวดเร็ว เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ที่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ยึดติดกับตัวตน และข้อเสนอที่ได้จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในวันนี้ จะถูกนำไปวิเคราะห์ นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำไปดำเนินการพัฒนาระบบทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป ดังนั้นจึงหวังว่าการรับฟังความเห็นในปีนี้จะนำระบบสุขภาพไปสู่เป้าหมายได้ และหากต่างฝ่ายเปิดใจพูดคุยกัน เชื่อว่าไม่มีทางที่ระบบสุขภาพของประเทศจะถึงทางตัน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุข การปรับหลักเกณฑ์กำหนดค่าใช้จ่ายหน่วยบริการ และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกระบวนการรับฟังความเห็นปี 2559 นี้ ได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 13 เขต มีผู้แสดงความเห็นทั้งสิ้น 8,929 คน ในการประชุมวันนี้จะเป็นการเปิดรับฟังความเห็นในระดับประเทศอีกครั้ง และจะมีการสรุปรวมรวมความเห็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. ในการปรับปรุงระบบบต่อไป
สำหรับการรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนฯ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ์
- 5 views