กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระบบด้านบริการสุขภาพ รับการขับเคลื่อนประเทศไทยยุค 4.0 ติด “QR Code” ใบอนุญาตโรงพยาบาล/คลินิก - หมอ ให้ประชาชนตรวจสอบจริงหรือปลอมได้ทันที พร้อมตั้งวอร์รูม ระดมผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาเข้ากลั่นกรองปัญหาร้องเรียน ไกล่เกลี่ยเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายสมเหตุสมผล ใช้ไลน์ส่งข้อมูลความรู้สุขภาพของแท้ ถึงตัวประชาชนทุกคน ทุกหมู่บ้านสู้ภัยจากโซเซียลมีเดีย พร้อมเปิดระบบในเดือนตุลาคม 2559 นี้ แน่นอน
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการขับเคลื่อนประเทศไทยยุค 4.0 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้พัฒนาระบบการตรวจสอบสถานพยาบาล คลินิกเอกชนที่มีรวมกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการใช้ระบบ QR Code ติดที่ใบอนุญาตการเปิดกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ เพื่อใช้ตรวจสอบว่า เป็นใบอนุญาตที่ถูกต้อง จริงหรือไม่ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการปลอมแปลงเอกสารใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ นำไปแสดงในคลินิก และให้บริการโดยที่บุคคลไม่ใช่แพทย์ มีการนำรูปถ่ายบุคคลนั้นติดทับบนรูปถ่ายของแพทย์จริง ซึ่งยากต่อการที่ประชาชนจะตรวจสอบได้
สบส.จึงคิดกระบวนการแก้ปัญหาโดยนำระบบ QR Code ไปติดในใบอนุญาต ทั้งใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ เมื่อประชาชนเห็นสามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน สแกน QR Code เพื่อตรวจสอบ และยืนยันว่าสถานพยาบาลหรือแพทย์เป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับ สบส. อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วินาทีก็สามารถทราบผลได้เลย
ข้อมูลที่บรรจุอยู่ใน QR Code จะแสดงถึงเลขที่ใบอนุญาตสถานพยาบาล จำนวน 11 หลัก และเลขที่ใบอนุญาตผู้ดำเนินการ ซึ่งจะแสดงข้อมูลแพทย์ผู้ดำเนินการ พร้อมภาพ หากตรงกับที่ปรากฏในคลินิกทั้ง 2 หลักฐาน แสดงว่าเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้อง และแพทย์จริง โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ให้ทันใช้ภายในเดือนตุลาคม 2559
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สบส.จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการวอร์รูม (War Room) คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องร้องเรียนที่ได้รับเข้ามาเฉลี่ยปีละ 200 ครั้ง วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งด้านสถานพยาบาล ผู้ให้บริการ และปัญหาที่ประชาชนได้รับ โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาจากหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข มาให้ข้อมูลทางวิชาการ และฝ่ายกฎหมาย สบส.ร่วมกันดำเนินการทบทวน กลั่นกรอง วิเคราะห์ ปัญหา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และนำไปสู่การแก้ไขไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ประกอบการ ผู้ดำเนินการ กับประชาชนที่เดือดร้อนให้ได้รับการเยียวยาที่สมเหตุสม
วอร์รูมส่วนนี้จะเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ประชาชน ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น การดำเนินการเรื่องนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย เนื่องจากเป็นการต่อยอดบนฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เพื่อทำให้งานเดินรุกไปข้างหน้าได้ และมีความคล่องตัวให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไปถึงประชาชนให้เร็วที่สุด เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคของการรับข้อมูลทั้งที่ตนเองไม่อยากได้มีทั้งถูกและผิด จึงต้องเร่งจัดทำข้อมูลทข่าวสารที่ถูกต้องส่งถึงตัวประชาชนให้เร็วที่สุดเช่นกัน
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ในการคุ้มครองผู้บริโภคในยุค 4.0 สำนักสถานพยาบาลฯ จะขยายเครือข่ายไปถึงภาคประชาชน โดยร่วมมือกับศูนย์พิทักษ์สิทธิที่ดำเนินการโดย จัดอบรม อสม.ทั้ง 76 จังหวัด ประมาณ 800 คน ในเรื่องของการเรียนรู้ระบบการเฝ้าระวัง การคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่มีความบิดเบือนจากความเป็นจริงก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและจะใช้ระบบโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะไลน์ (LINE) เป็นช่องทางสื่อสาร ตั้งแต่ระดับ สบส.ลงถึง อสม.ในศูนย์พิทักษ์สิทธิ 76 จังหวัด จากนั้นจะกระจายลงสู่ช่องทาง อสม.อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และเข้าสู่ครัวเรือนรายบุคคล
ขณะนี้ได้วางระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มั่นใจว่าในยุคต่อไปนี้ข้อมูลทางไลน์จาก สบส.จะถึงคน 60 ล้านคนในเวลาที่รวดเร็วเป็นการใช้เครือข่ายเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ บทบาทของ อสม.จากนี้ไปจะต้องเป็นผู้แชร์ข้อมูลข่าวที่ถูกต้องและผ่านการกรั่นกรองจากภาครัฐ คือ วอร์รูมของ สบส. ทำให้ประชาชนปลอดภัยจากความเสี่ยงของการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง หรือคำแนะนำที่ผิดๆ เป็นภัยต่อสุขภาพ
- 172 views