กระทรวงสาธารณสุข เปิด “คลินิกหมอครอบครัว” จ.อุทัยธานี จัดระบบบริการปฐมภูมิให้บริการประชาชนได้รับบริการอย่างครอบคลุมทั่วถึงใกล้บ้านใกล้ใจ โดยทีมหมอเวชศาสตร์ครอบครัว สหวิชาชีพ หมออนามัย บริการครอบคลุมแบบเขตเมืองกว่า 30,000 คน ผสมผสาน ลดการป่วย รอคอย ซ้ำซ้อน ลดรายจ่าย ไม่ต้องไปแออัดในโรงพยาบาล
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ที่ โรงพยาบาลอุทัยธานี จ.อุทัยธานี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 พร้อมด้วยคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและเปิดคลินิกหมอครอบครัว เขตเมืองของโรงพยาบาลอุทัยธานี
นพ.โสภณ กล่าวว่า คลินิกหมอครอบครัว (Primary care cluster) เป็นหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่รัฐบาลมอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องจัดบริการที่เหมาะสมให้กับประชาชนทุกคน จะให้การดูแลแบบองค์รวมทั้งรายบุคคลและครอบครัวในเขตเมือง เพื่อให้เกิดการดูแลในพื้นที่ขนาดเหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลได้ทั่วถึง การบริการในโรคพื้นฐานทั่วไปได้สะดวก รวดเร็ว
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า คลินิกหมอครอบครัว ยังมีบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพ รักษาพยาบาล ที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลใหญ่ โดยจะมีการกำหนดพื้นที่และประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน โดยประชากรประมาณ 30,000 คน จะมีทีมหมอครอบครัว สหวิชาชีพ หมออนามัย ดูแล 3 ทีม ใช้หลักในการดูแลความเจ็บป่วยมากกว่าการดูแลเฉพาะโรค บริการที่ต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพประจำตัว ประจำครอบครัว ทั้งการส่งเสริมการพึ่งตนเองของประชาชนการประสานเชื่อมโยงกับชุมชน องค์กร ภาคีเครือข่าย ซึ่งประชาชนจะได้รับการบริการอย่างครอบคลุมทั่วถึง ให้การดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วย จนถึงการส่งต่อเพื่อรักษาต่อเนื่อง การดูแลทั้งตัวบุคคลและครอบครัว “เบ็ดเสร็จ ผสมผสาน ลดการป่วย” ตั้งคลินิกรักษาในชุมชน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ลดการรอคอยจากการบริการในโรงพยาบาล
สำหรับ จ.อุทัยธานี ได้พัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองเป็นคลินิกหมอครอบครัว ที่ดูแลประชาชนในเขตเมือง 28,494 คน มีทีมดูแลจำนวน 3 ทีม ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 3 คน ทันตแพทย์ 3 คน ทันตาภิบาล 4 คน เภสัชกร 3 คน นักกายภาพบำบัด 3 คน พยาบาลวิชาชีพ 13 คน นักวิชาการสาธารณสุข 5 คน แพทย์แผนไทย 3 คน และเจ้าหน้าที่สนับสนุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้มีประชาชนมารับบริการมากถึงร้อยละ 40 มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ให้ไปรับบริการที่คลินิกได้ด้วย การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถควบคุมเบาหวานได้ตามเกณฑ์ร้อยละ 36 ส่งต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไปรักษาในคลินิกมากถึงร้อยละ 65 และยังสามารถควบคุมความดันของผู้ป่วยได้ตามเกณฑ์ร้อยละ 33
รวมทั้ง ยังมีการนำระบบการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพตำบลสุขภาพระยะยาว (LTC) ในการดูแลผู้สูงอายุในเขตอำเภอเมือง เพื่อให้ประชาชนเขตเมืองได้รับการบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ผู้นำชุมชน จึงทำให้สามารถเป็นการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างแท้จริงในเขตเมืองปัจจุบัน
- 249 views