ผอ.รพ.พญาเม็งราย แนะเกลี่ยงบรายหัว ลดงบสร้างเสริมสุขภาพเพราะซ้ำซ้อนหลายกองทุน แล้วเพิ่มเงินรายหัวผู้ป่วยนอกเพื่อให้โรงพยาบาลชุมชนอยู่ได้ พร้อมแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงิน UC ให้ชัดเจน ส่วนร่วมจ่ายจะเก็บหรือไม่เก็บก็ได้ เพราะไม่มีผลกับรายได้ของ รพ. แต่ในส่วน รพ.ชุมชน ที่ต้องติดต่อกับ ปชช.ผู้มีรายได้น้อย อาจทำให้ผู้ป่วยมาใช้บริการน้อยลง
พญ.อัมพวัน ศรีครุทานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาเม็งราย จ.เชียงราย ให้ความเห็นถึงแนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพว่า ตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพช่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่บริการมากขึ้นจริงๆ แต่ยังควรมีการปรับปรุงใน 2 ประเด็น 1.ปรับสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน ควรเพิ่มงบรายหัวผู้ป่วยนอกให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ ขณะเดียวกัน ควรลดงบประมาณในเรื่องงบสร้างเสริมสุขภาพลง เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โอนเงินให้กับกองทุนท้องถิ่นอยู่แล้ว และยังกันงบสร้างเสริมสุขภาพมาอีกหลายกอง ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน
พญ.อัมพวัน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการปรับงบผู้ป่วยในให้มากขึ้น ทำให้งบประมาณที่จะลงมาระดับโรงพยาบาลชุมชนลดลง เนื่องจากการจัดสรรงบผู้ป่วยในคิดตามน้ำหนัก RW ซึ่งในทางปฏิบัติ ถามว่าคนไข้ในชุมชนจะเข้ารับการรักษาโรคหนักๆ ที่โรงพยาบาลชุมชนหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็ส่งต่อโรงพยาบาลใหญ่อยู่แล้ว ส่วนถ้าผู้ป่วยในแอดมิดด้วยโรคง่ายๆ น้ำหนักการคำนวณ RW ก็จะมีน้อย บวกกับกระแสการฟ้องร้องก็ทำให้โรงพยาบาลชุมชนผ่าตัดน้อยลง รายได้ในส่วนของผู้ป่วยในก็ลดลงตามเป็นอย่างมาก
“ในส่วนของ OPD มันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่อนข้างเยอะ รายได้ของโรงพยาบาลชุมชนน่าจะเทมาตรงนี้ให้มากขึ้นอีกนิด ก็น่าจะเหมาะสม โรงพยาบาลที่มีรายหัวประมาณ 30,000 ราย ก็น่าจะอยู่ได้”
พญ.อัมพวัน กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 ที่ควรปรับปรุง คือ แยกระบบเงินเดือนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ออกจากงบ UC เพราะค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ค่า Fixed Cost เพิ่มขึ้น แต่โรงพยาบาลดูแลรายหัวเท่าเดิมคือ 3 หมื่นคนทุกปี ตรงนี้เหมือนไปกินเงินบริการที่ควรนำมาใช้บริการผู้ป่วย
“ในภาพรวมดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายในการให้บริการสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ ไม่ได้เพิ่มมาก แต่มันมีค่าแรงบุคลากรแฝงเข้ามาอาจจะมากถึง 60% การแยกเงินเดือนออกมันจะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า จริงๆ แล้วงบประมาณที่ใช้ในการดูแลประชาชนเป็นเท่าไหร่ มันมากขนาดไหน กี่ % ของจีดีพี” พญ.อัมพวัน กล่าว
สำหรับแนวคิดการ Co-Payment โดยส่วนตัวคิดว่าจะเก็บก็ได้ ไม่เก็บก็ได้ เพราะไม่ได้มีผลกับรายได้ของโรงพยาบาลมากเท่าใด แต่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนซึ่งต้องติดต่อกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย การ Co-Payment ก็อาจทำให้ประชาชนเข้ามารับบริการน้อยลง
“ชาวบ้านที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เขามีความหวังว่าจะได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อันนี้คือเงินที่เขาได้ แต่ถ้าต้อง Co-Payment เขาคงไม่มาหรอก ที่เราเจอเยอะๆ เลยคือไม่มีใครมาส่ง ไม่มีรถประจำทาง ถ้าจะเหมารถ อย่างต่ำๆ ก็ 200-300 บาท แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาโรงพยาบาล แค่จะกินจะอยู่ยังลำบากเลย” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาเม็งราย กล่าว
- 113 views