นสพ.บ้านเมือง : โรคไตเรื้อรัง เป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพของคนไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ส่วนสาเหตุของโรคคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเกิดจากการกินเค็มเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคไตอีกด้วย ซึ่งโรคไตส่วนใหญ่เป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานและความดันโลหิต
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย ซึ่งต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดล้างไต หรือปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นจาก 420 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในปี 2550 เป็นจำนวน 906 คนต่อประชากร 1 ล้านคนในปี 2555
จากการศึกษาของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยในปี 2551 พบความชุกของโรคไตเรื้อรังในทุกระยะประมาณ 17.5% และประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปมีโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน แต่ความตระหนักรู้ของผู้ป่วยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังนั้นมีน้อยมาก กล่าวคือ มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะรุนแรงไม่เกิน 20% ที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคไตเรื้อรัง
ทีมโครงการวิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตสำหรับคนไทย เพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ ตื่นตัว ในการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคไต นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคเรื้อรังนี้
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ร่วมมือกันเป็นเวลานานถึง 20 ปี ซึ่งแบบประเมินนี้ได้รับการพัฒนาจากแบบประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จากข้อมูลของพนักงาน กฟผ.ที่เข้าร่วมวิจัยกว่า 3,000 คน และติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยอาศัยวิธีวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นแบบประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคไตในอนาคตข้างหน้าได้อย่างแท้จริง และเชื่อว่าการสร้างแบบประเมินนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงความเสี่ยงของตนเองว่า แต่ละคนมีความเสี่ยงสูงมากน้อยแค่ไหน ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะได้ระมัดระวังตัวในการใช้ยาที่มีผลต่อไต มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โอกาสที่จะเกิดภาวะไตวายเกิดขึ้นช้าลงหรือไม่เกิดขึ้น และนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีในประชาชนชาวไทย ที่เกิดจากองค์ความรู้การวิจัยของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
สำหรับแบบประเมินแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 จะใช้ข้อมูลทางคลินิกทั่วไป ประกอบด้วย อายุ เพศ ประวัติโรคเบาหวาน รอบเอว (นิ้ว) และความดันมีความแม่นยำในการประเมินความเสี่ยงได้ถึง 70% สามารถทำได้เองที่บ้านหรือคลินิกใกล้บ้าน
แบบที่ 2 ใช้ปัจจัยเดียวกันโดยเพิ่มการเจาะเลือด ค่าน้ำตาล ค่าการทำงานของไต (ครีแอทินิน) ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำจากเดิมได้ถึง 80% ผลเลือดที่ใช้นั้นสามารถตรวจวัดค่าได้จากทางโรงพยาบาล
รศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า แบบประเมินนี้มีประโยชน์ต่อผู้ที่ยังไม่เป็นโรคไต เพื่อที่จะได้ทราบค่าความเสี่ยง สามารถป้องกันและแก้ไขโรคไตเรื้อรังได้ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ในการที่จะเลือกติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ที่สนใจสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองในการเกิดโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ หากพบว่าผลการประเมินมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูง แบบการประเมินจะมีคำแนะนำการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คุมอาหารเค็ม คุมน้ำตาล ในกรณีที่เป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรทานยาอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
แบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตในคนไทยอาจเปรียบได้กับการดูดวง หากดวงไม่ดีอาจจะต้องทำบุญเพิ่มเพื่อแก้ไขให้ดวงดีขึ้น เช่นเดียวกับการตรวจความเสี่ยง หากเกิดความเสี่ยงสูงก็จะสามารถควบคุมและป้องกันปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้ผู้ที่สนใจสามารถตรวจความเสี่ยงได้ที่นี่
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 31 กรกฎาคม 2559
- 355 views