ผ่านมาครึ่งทางสำหรับการเปิดลงทะเบียนคนจน หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการคือโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการนี้เปิดให้ประชาชนมีรายได้น้อยไม่เกินปีละ 1 แสนบาท จำนวน 20 ล้านรายทั่วประเทศ มาลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2559 ผ่าน 3 ธนาคาร คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย
แม้การลงทะเบียนกรอกเอกสารเพียงแผ่นเดียว และใช้บัตรประชาชนในการแสดงตัว ถือว่าไม่ยุ่งยาก แต่ยอดลงทะเบียนในช่วง 2 สัปดาห์แรก มียอดเกือบ 2 ล้านราย ยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่วางไว้ 5 ล้านราย ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารที่รับลงทะเบียนทั้ง 3 แห่ง ยังมั่นใจว่ายอดลงทะเบียนถึงเป้าหมายแน่นอน เพราะนิสัยคนไทยชอบมาลงทะเบียนในช่วงท้าย โดยช่วงเริ่มต้นลงทะเบียนติดวันหยุดยาว 5 วัน ล่าสุด การลงทะเบียน 3 ธนาคาร ยอดพุ่งไปอยู่ที่วันละเกือบ 3 แสนราย จากช่วงแรกหลักหมื่นรายเท่านั้น
"อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตัวเลขลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วงเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม อยู่ที่ 1.6 ล้านราย ถือว่าไม่น้อย แม้จะมีคนบอกว่าน้อย เพราะรัฐไม่ประกาศมาตรการจูงใจ
ขอยืนยันว่าคนที่มาลงทะเบียนจะได้รับสวัสดิการมากกว่าที่ไม่มาลงทะเบียน เพราะคนที่มาลงทะเบียนถือว่าแสดงตัวต้องการสวัสดิการรัฐอย่างแท้จริง
ดังนั้น คนที่ไม่มาลงทะเบียนแสดงว่ามีรายได้เพียงพอ หรือพอใจกับสวัสดิการที่ได้รับ ไม่ต้องการสวัสดิการเพิ่มเติม
ขุนคลังระบุว่า ช่วงต้นปีหน้ารัฐบาลจะประกาศว่าคนที่มาลงทะเบียนจะได้อะไรเพิ่มเติมบ้าง สวัสดิการที่จะพิจารณาเพิ่มให้คนลงทะเบียน เช่น รถเมล์ฟรี ลดราคาก๊าซหุงต้ม ลดค่าน้ำ ไฟ ลงครึ่งหนึ่ง รวมถึงเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราให้มากกว่าเดือนละ 600 บาท โดยจะนำเข้ามูลจากการลงทะเบียนมาประกอบการพิจารณา กระทรวงการคลังมีแผนจะเชื่อมระบบการจ่ายสวัสดิการภาครัฐกับอีเพย์เมนต์ เพื่อจ่ายสวัสดิการผ่านบัตร หรือใส่เข้าบัญชีผู้รับสวัสดิการโดยตรง ซึ่งการวางระบบอีเพย์เมนต์แล้วเสร็จปลายปีนี้ ดังนั้น ต้นปีหน้าสามารถเพิ่มสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยได้
"อภิศักดิ์" กล่าวว่า ยังเหลือเวลาอีกครึ่งเดือนอยากขอเชิญชวนประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มาลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการ ส่วนที่คนมาลงทะเบียนไม่ทัน หรือยังรีรอ ก็ยังได้สวัสดิการเท่าเดิม รัฐไม่ได้ตัดอะไร แต่จะไม่ได้ในส่วนที่รัฐจะเพิ่มเติมให้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเปลี่ยนใจอยากได้สวัสดิการเพิ่ม สามารถมาลงทะเบียนได้ในเดือนกันยายนทุกปี ถ้าไม่มาลงปีนี้ ปีหน้าก็ลงได้ เมื่อลงทะเบียนแล้วต้องรอรับสวัสดิการในปีถัดไป จะไม่ได้ทันที เหมือนคนที่มาลงในปีนี้
"กฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าที่คนมาลงทะเบียนไม่หวือหวา อาจเป็นเพราะประชาชนยังไม่รู้ว่าลงไปแล้วจะได้อะไร กระทรวงการคลังยังไม่ประกาศว่าจะให้อะไรออกมา เพราะอยากดูข้อมูลจากการลงทะเบียน โดยยืนยันว่าการลงทะเบียนครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า ล่าสุด มีแนวคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพชราภาพให้คนที่มีรายได้น้อย โดยจะดูจากข้อมูลที่มาลงทะเบียนว่ามีคนชราที่เป็นคนจนเท่าไหร่ ระดับรายได้แค่ไหนบ้าง โดยอาจเพิ่มให้แบบขั้นบันไดตามระดับรายได้ อาทิ ทั้งปีมีรายได้ 2 หมื่นบาท ควรจะต้องเพิ่มให้มากกว่าคนที่มีรายได้เกิน 1 แสนบาท เป็นต้น
"กฤษฎา" มองว่า การลงทะเบียนช่วยทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการลงทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สิน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทราบข้อมูลและสามารถนำไปกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ตรงจุด ซึ่งการลงทะเบียนในปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเก็บข้อมูลผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นทางการ แม้ว่าปีนี้บางคนอาจไม่มาลงทะเบียน แต่เชื่อว่าปีต่อไปจะมาลงทะเบียนมากขึ้น เมื่อเห็นว่ารัฐมีสวัสดิการอะไรเพิ่มให้บ้าง
ขณะที่ "ชาติชาย พยุหนาวีชัย" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยไม่สูงมาก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากไม่มีแรงจูงใจว่ามาลงทะเบียนแล้วจะได้อะไร เพราะรัฐยังไม่ประกาศออกมาชัดเจน โดยในส่วนของออมสิน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปแจกใบสมัครตามตลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คือพ่อค้า แม่ค้า แต่การลงทะเบียนยังต้องยื่นใบสมัครที่ธนาคาร
อย่างไรก็ตาม หากรัฐประกาศสวัสดิการชัดเจนอาจทำให้คนมาลงทะเบียนมากขึ้น
ด้าน "สมศักดิ์ กังธีระวัฒน์" รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีการลงพื้นที่ไปตั้งจุดรับลงทะเบียนในพื้นที่ชุมชน ล่าสุดมียอดลงทะเบียนกว่า 7 แสนรายแล้ว คาดว่าสิ้นสุดลงทะเบียนวันที่ 15 สิงหาคม จะมียอดลงทะเบียนเฉพาะ ธ.ก.ส.3 ล้านราย และเมื่อรวม 2 แบงก์ น่าจะได้ตามเป้าหมาย 5 ล้านราย โดยในช่วงแรกการลงทะเบียนยังไม่มาก เพราะรัฐบาลก็ยังไม่บอกว่าจะจ่ายสวัสดิการอะไร คนที่ไม่มาลงทะเบียนปีนี้ เพราะยังไม่รู้ว่าลงไปแล้วได้อะไร ถ้าปีหน้ารัฐบาลประกาศเรื่องสวัสดิการแล้วสามารถลงทะเบียนได้
"ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ยอดลงทะเบียนยังไม่มาก เนื่องจากช่วงนี้ยังไม่มีผลประโยชน์โดยตรงที่ภาครัฐจะให้ผ่านการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย การลงทะเบียนเอาไว้เป็นเหมือนการแสดงตัวไว้ล่วงหน้า โดยในช่วงที่เหลือ 2 สัปดาห์ ธนาคารจะเร่งประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม
จากข้อมูล สศค.พบว่าคนจนจำนวน 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของจำนวนประชากรไทย ในช่วงปี 2552-2557 รัฐบาลมีโครงการเชิงสวัสดิการและประชานิยม รวม 18 โครงการใช้เงินไปกว่า 3.88 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 15.4% ของงบประมาณประจำปี และถ้าดูเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับเพิ่มรายได้และลดจ่ายมีถึง 11 โครงการ อาทิ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนสตรี พักชำระหนี้ จำนำพืชผลทางการเกษตร ประกันรายได้เกษตรกร โดยใช้งบถึง 1.44 แสนล้านบาท ถ้าดูเฉพาะโครงการเพื่อคนจนจริงๆ พบว่าใช้งบประมาณเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากมีข้อมูลคนจนชัดเจน จะช่วยให้รัฐสามารถออกแบบโครงการสวัสดิการช่วยเหลือคนจนที่ตรงจุดและช่วยประหยัดงบประมาณมาก
ล่าสุด ทางกระทรวงการคลังได้ประกาศชัดแล้วว่าคนลงทะเบียนจะได้สวัสดิการมากกว่าผู้ไม่ลงทะเบียน
ดังนั้น ต้องติดตาม 2 สัปดาห์ที่เหลือ ยอดลงทะเบียนจะพุ่งทะลุเป้าหรือไม่...
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 กรกฎาคม 2559
- 38 views