กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร รวมแล้วไม่เกิน 6 หมื่นบาท ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนไทยมีลูกมากขึ้น หลังอัตราการเกิดของประชากรลดลง ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น หวั่นกระทบการพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 338 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 135 ตอนที่ 44 ก ซึ่งลงนามโดย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ระบุว่า

“โดยที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้มีประชากรวัยแรงงานลดลงและอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีเงินได้มีบุตรเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้โครงสร้างประชากรของประเทศมีความเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต สมควรกำหนดให้เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของตนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกหมื่นบาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้”

สำหรับเนื้อหากฎกระทรวงระบุว่า

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (99) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

“(99) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของตนตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแต่ไม่เกินหกหมื่นบาท หากการจ่ายค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวมิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกหมื่นบาท ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”