กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขยายบริการในโครงการเมดิคัลฮับ ในปีนี้เพิ่มการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ และกี๊ฟ ให้แก่คู่สมรสชาวจีนโดยไม่กระทบและไม่ขัดกฎหมาย ดึงโรงพยาบาล/คลินิกที่มีความพร้อมในการให้บริการเฉพาะ 65 แห่งทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการ
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Tourism โดยมี รมว.สาธารณสุขและ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ในเดือนมิถุนายน 2559 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ความพร้อมในการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์รองรับผู้รับบริการชาวจีน เนื่องด้วยในปัจจุบันรัฐบาลประเทศจีนมีนโยบายส่งเสริมให้ประชากรสามารถมีบุตรได้มากกว่า 1 คน ประกอบกับประเทศไทยมีศักยภาพและความก้าวหน้าทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีด้านนี้เป็นอย่างมาก รวมทั้งมีศูนย์รักษาผู้ที่มีบุตรยากจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน และมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้านนี้เป็นการเฉพาะ ได้แก่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา ถือเป็นความโดดเด่นของประเทศโดยมอบให้ สบส.เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า จากการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ภายหลังจากนี้ สบส.จะได้มีการทำหนังสือเชิญชวนสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ พ.ศ.2558 จำนวน 65 แห่ง ที่มีศักยภาพและความพร้อม รวมทั้งบางแห่งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลเจซีไอ (Joint Commission International : JCI) โดยให้สถานพยาบาลที่สนใจเข้าร่วมโครงการแจ้งจำนวนผู้ใช้บริการย้อนหลัง 3 ปีให้ สบส.เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน และจะมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดประเภทการให้บริการที่สามารถให้บริการได้โดยไม่ขัดต่อระเบียบหรือกฎหมาย
ซึ่งเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีหลายประเภท เช่น การทำกิ๊ฟ (Gamete Intrafallopian Transfer: GIFT) การผสมเทียม (Intrauterine Insemination: IUI) ไอวีเอฟ (In Vitro Fertilization : IVF) และอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) รวมทั้งการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนหรือที่รู้จักคือการอุ้มบุญ เป็นต้น หลังจากนั้น สบส.จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้รับบริการชาวจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ช่องทางเช่นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศจีน และช่องทางอื่นๆ
ปัจจุบัน ความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวนสูงมากขึ้นทุกปี รายงานของกรมการท่องเที่ยวในปี พ.ศ.2558 พบว่ามีจำนวนมากกว่า 8 ล้านรายซึ่งมากเป็นอันดับ 1 จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทั้งหมดประมาณ 29 ล้านรายมากกว่า 40 ประเทศ และคาดว่าในปี 2559 นี้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนจะเพิ่มมากขึ้น โดยในรอบ 4 เดือนแรกตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน มีทั้งหมดมากกว่า 3 ล้านราย
- 71 views