นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “นาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น” รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตัวช่วยในการจับเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ในการทำการกู้ชีพเพื่อป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้นอีกด้วยช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เน้นผลิตได้ง่าย ประหยัด และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปีพ.ศ. 2559 ในหัวข้อเคลื่อนวงล้อการแพทย์ฉุกเฉินไทย ตัวแทนจากสถานพยาบาล หน่วยงานวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันนำเสนอผลงานวิชาการประเภทนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน มีอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยนวัตกรรมชิ้นนี้ผลิตและคิดค้นขึ้นโดย แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่ใช้ชื่อนวัตกรรมว่า “การพัฒนานาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น”
น้ำผึ้ง ขึ้นกันกง และ ธวัชชัย ไร่ดี เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้บอกเล่าถึงแนวทางในการทำงานของนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า “การจับเวลาขณะปั๊มหัวใจเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นหนึ่งในกระบวนการกู้ชีพ ซึ่งในทางปฏิบัติสากลนั้นการกดหน้าอกต้องได้จำนวน 100-120 ครั้งต่อนาที และเปลี่ยนผู้ปั๊มหัวในทุก 2 นาที พร้อมกับให้ยากระตุ้นหัวใจทุก 3 นาที แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ และสภาพแวดล้อมในการเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะส่งผลต่อสมาธิของผู้จับเวลา อาจทำให้การจับเวลามีความคลาดเคลื่อนและส่งผลให้การช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินไม่มีประสิทธิภาพได้ ดังนั้นเราจึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการจับเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ในการทำการกู้ชีพเพื่อป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติระบุ
สำหรับการทำงานของนาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนั้นมีหลักการทำงานโดยใช้แสงไฟเตือนควบคู่กับการจับเวลา โดยจะใช้สีของไฟและเสียงออดในการเตือนเวลา 2 และ 3 นาที และมีจอแสดงผลด้วยตัวเลขดิจิตอลนับถอยหลังและเสียงเตือนแบบไฟล์เอ็มพี 3 บอกเวลาปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วนาฬิกาจับเวลาทั้ง 2 ช่อง ยังสามารถปรับ จำนวนจังหวะที่เครื่องปรับได้ 100-200 ครั้ง/นาที ซึ่งการปั๊มหัวใจโดยใช้นาฬิกาจับเวลาขณะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
- 388 views