เปิดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “ผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน” ผลงาน หน่วยงานอุบัติและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย ช่วยห้ามเลือดผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการเสียเลือด และเพื่อลดการเลื่อนหลุดของท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ต้องไดรับการใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เน้นผลิตได้ง่าย ประหยัด และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปีพ.ศ. 2559 ในหัวข้อเคลื่อนวงล้อการแพทย์ฉุกเฉินไทย ตัวแทนจากสถานพยาบาล หน่วยงานวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันนำเสนอผลงานวิชาการประเภทนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยหนึ่งในผลงานที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากคือ ผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน หรือ Field Head saver ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่คิดค้นขึ้นโดยหน่วยงานอุบัติและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย
ปรีชา มะโนยศ เจ้าหน้าที่หน่วยงานอุบัติและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย เล่าถึงที่มาที่ไปของการคิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาว่า “ในการเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ การช่วยเหลือห้ามเลือดให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องทำอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมามีปัจจัยหลายทำให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในเคสผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเกิดความล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นจากตัวผู้ป่วยเองที่ไม่ให้ความร่วมมือเพราะผู้ป่วยไม่สามารถครองสติของตนเองได้
นอกจากนี้ในผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย มีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ การผูกมัดหรือยึดตรึงไว้เพื่อไม่ให้ท่อช่วยหายใจเลื่อนหลุดด้วยมักจะเกิดปัญหาการเลื่อนหลุดเมื่อพลาสเตอร์ที่ใช้ยึดตรึงไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งเช่นน้ำลายหรือเลือดของผู้ป่วยก็จะทำให้เกิดการเลื่อนหลุดได้ง่าย เราจึงได้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน หรือ Field Head saver ขึ้นมาเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการช่วยห้ามเลือดผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการเสียเลือด และเพื่อลดการเลื่อนหลุดของท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ต้องไดรับการใส่ท่อช่วยหายใจ” เจ้าหน้าที่หน่วยงานอุบัติและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงรายกล่าว
จุดเด่นของนวัตกรรมผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน หรือ Field Head saver นั้น คือการประหยัดต้นทุนในการผลิต โดยการผลิตนั้นจะนำผ้าผันแผลอีลาสติกมาตัดเย็บเป็นผ้าพันศีรษะฉุกเฉิน ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับความกระชับต่อศีรษะและใบหน้าเพิ่มแรงกดบาดแผลเพื่อประสิทธิภาพของการห้ามเลือดได้ โดยสามารถสวมให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที ไม่จำเป็นต้องยกศีรษะขึ้นลง และยังสามารถปิดได้ทั้งศีรษะโดยไม่รบกวนการประเมินผู้ป่วย
นอกจากนี้ยังเป็นตัวกลางในการช่วยยึดติดพลาสเตอร์ในการยึดท่อช่วยหายใจอีกด้วย ซึ่งผลการใช้ผ้าพันศีรษะฉุกเฉินกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะพบว่าสามารถห้ามเลือดได้ดี ลดระยะเวลาในการพันผ้า มีความสะดวกในการใช้ และที่สำคัญคือราคาประหยัดด้วย
- 113 views