“หมอชาตรี” มอบนโยบาย อนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ทั่วประเทศ รุกงานประเมินคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการ ช่วยประชาชนการเข้าถึงสิทธิและบริการ ย้ำบทบาทไม่ใช่จับผิด แต่เน้นบูรณการกลไกระบบสุขภาพพื้นที่ ปรับปรุงสู่การพัฒนาระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมกัน พร้อมช่วยลดความขัดแย้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ตาม ม.41 เยียวยาความเสียหายจากการรับและให้บริการสาธารณสุข
นพ.ชาตรี บานชื่น
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ที่โรงแรมอมารี แอร์พอต – เมื่อเวลา 09:30 น. นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เปิดการประชุมการเตรียมความพร้อมคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ “คุณภาพและมาตรฐานที่ยั่งยืน” พร้อมมอบนโยบาย “ความสำคัญและภารกิจที่ท้าทายของคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพบริการสาธารณสุข โดยมีผู้แทนกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่จากทั่วประเทศกว่า 200 คนเข้าร่วม
นพ.ชาตรี กล่าวว่า คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการประเมินการให้บริการของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในด้านมาตรฐานและคุณภาพ การเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการรับบริการ โดยมีรูปแบบการทำงานที่ต้องเชื่อมโยงกับกลไกต่างๆ ของภาคส่วนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอนุกรรมการมาตรา ม.41 ระดับจังหวัด หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากหน่วยบริการ มาตรา 50 (5) ศูนย์หลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน รวมถึง คณะกรรมการประสานการพัฒนางานสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (คปสข.) กระทรวงสาธารณสุข และ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต อปสข. สปสช. โดยต้องเป็นส่วนเชื่อมโยงบูรณาการร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบต่อไป
นพ.ชาตรี กล่าวว่า บทบาทซึ่งเป็นรูปธรรมชัดเจน อาทิ การเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายเบื้องต้นจากการรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ช่วยลดความขัดแย้งในระบบสุขภาพได้ โดยเชื่อมโยงกับอนุกรรมการตามมาตรา ม.41 ที่นำไปสู่การพัฒนาระบบรองรับและป้องกันความเสียหายทีอาจเกิดขึ้น
ส่วนทิศทางการทำงานคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ ซึ่งได้มอบนโยบายในวันนี้คือการมุ่งเน้นเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการและรับบริการ สร้างการยอมรับร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีความสุข ภายใต้งบประมาณที่จำกัดขณะนี้จะทำอย่างไรให้เกิดการใช้งบประมาณคุ้มค่าและทำให้ระบบเดินหน้าได้ ทั้งนี้กระบวนการทำงานของคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ระดับเขต มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้แทนหน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และภาคประชาชน ดังนั้นนอกจากทำหน้าที่บทบาทของตนเองแล้ว ยังต้องเข้าใจบทบาทภาคส่วนอื่นด้วยเพื่อให้รู้ประสิทธิภาพและข้อจำกัด และสนับสนุนการทำงานร่วมกัน
“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการ ลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ทำให้ไม่ต้องล้มละลายจากรักษา ขณะเดียวกันที่ผ่านมาผู้ให้บริการต่างต้องทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้นทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและผู้ให้บริการมีความสุข เพราะหากเขาไม่มีความสุขก็ไม่สามารถให้บริการที่ดีได้ ดังนั้นคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ระดับเขตต้องทำงานเชิงรุกและบูรณาการการทำงานมากกว่าการจับผิด มากกว่าการตรวจสอบชี้ผิด แต่ควรเป็นการชี้ถูกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบที่ยั่งยืน” ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าว
- 9 views