ประธานชมรม ผอ.รพ.ชุมชนแห่งประเทศไทย ค้านแก้กฎหมายบัตรทอง แยกเงินเดือนแพทย์ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ระบุ ส่งผลให้พื้นที่ชนบทห่างไกลขาดแคลนบุคลากร หวั่นปัญหาสมองไหลเข้าไปกระจุกตัวในเมือง
นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์
นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ชนบทห่างไกล
นพ.สรลักษณ์ กล่าวว่า หากมีการปรับแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยแยกเงินเดือนบุคลากรออกไปจริง ระบบและสภาพปัญหาก็จะกลับไปเหมือนในอดีตก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขก็จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมือง และอาจเกิดปัญหาการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีความเจริญเท่านั้น
“ผมคิดว่าตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ และมีการล็อคเงินเดือนเอาไว้ตามพื้นที่ ทำให้การกระจายทรัพยากรดีขึ้นกว่าเมื่อ 14 ปีก่อน ถามว่าหากมีการแก้กฎหมายแล้วเกิดปัญหาสมองไหลจากชนบทเข้าสู่เมืองรุนแรงขึ้นจะทำอย่างไร จะกลายเป็นพยายามแก้ปัญหาหนึ่งแต่กลับสร้างปัญหาใหม่อีกหนึ่ง” นพ.สรลักษณ์ กล่าว
นพ.สรลักษณ์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ พบว่าทิศทางและพัฒนาการของ สปสช.เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างสิทธิประโยชน์เรื่องการผ่าตาต้อกระจกและการล้างไตซึ่งทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การป้องกันเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ช่วยให้คนจนไม่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคที่รุนแรงขึ้นจากการมีเบาหวานหรือความดัน
“ผมคิดว่าทิศทางการทำงานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดีขึ้นเรื่อยๆ นะ จึงเห็นว่าไม่ควรไปยุ่งหรือไม่แตะต้อง พ.ร.บ.หลักประกันฯ ที่ดีอยู่แล้ว”นพ.สรลักษณ์ กล่าว
นพ.สรลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องเม็ดเงินไม่เพียงพอ ขณะนี้ก็มีคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อแก้ไขปัญหาอยู่ รวมถึงประสิทธิภาพทางการเงินการคลังก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีนั้น ทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.สธ.และกระทรวงอื่นๆ 2.สปสช. 3.ภาคประชาชน จะต้องคานอำนาจกัน และทำงานร่วมกันโดยต้องไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้สั่งการ
“จุดยืนของผมคือไม่มีใครดีที่สุดหรือแย่ที่สุด แต่ต้องทำงานร่วมกันให้ได้ อย่างที่ท่านประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) เข้ามาแล้วสั่งให้สอบ สปสช. ก็มีหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง คตร.(คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ) และ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) เข้ามา ก็ว่าไปตามหลักการ ตรงไหนผิดก็แก้ให้ถูก ผมคิดว่าตรงนี้ไม่มีใครถูกใครผิด” นพ.สรลักษณ์ กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. ระบุว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้บังคับใช้มาร่วม 14 ปีแล้ว โดยหลักการเดิมที่ให้รวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อมุ่งให้มีการกระจายบุคลากรในระบบสุขภาพออกไปตามประชากรแต่ละพื้นที่ คือพื้นที่ใดมีประชากรมาก ควรมีบุคลากรสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน ปรากฎว่ายังไม่สามารถเกลี่ยบุคลากรในระบบได้ เนื่องจากติดโครงสร้างโรงพยาบาลที่กำหนดจำนวนบุคลากรตามขนาดของโรงพยาบาล
ทั้งนี้ จากโครงสร้างของโรงพยาบาลดังกล่าว ส่งผลให้โรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือโรงพยาบาลที่มีประชากรน้อยขาดสภาพคล่องตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ เนื่องจากเงินเดือนที่ต้องจ่ายให้กับบุคลากรของ โรงพยาบาลมีจำนวนที่เกินกว่างบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับการจัดสรร ทำให้ สปสช.ต้องจัดงบสนับสนุนเพิ่มเติมในทุกปี จึงเป็นที่มาของข้อเสนอให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมอเจตน์’ ชี้ข้อเสนอแยกเงินเดือนจากงบรายหัวระบบ 30 บาท ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
สธ.ยังไม่ฟันธงแยกเงินเดือนจากงบรายหัว รอผลศึกษา พร้อม ‘เพิ่มเตียง-กำลังคน’ ทุกพื้นที่
- 12 views