นายก อบต.ดอนหญ้านางชี้ ประกาศ กกถ. ไม่ได้ตัดช่องอุดหนุนบริการสาธารณะด้านการศึกษา-สาธารณสุข แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนด
นายสุรกิจ สุวรรณแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึง ประกาศคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ฉบับวันที่ 14 มิ.ย. 2559 เรื่องยกเลิกประกาศ กกถ. เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตําบลในการให้บริการสาธารณะ ที่ลงนามโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 (ดูที่นี่) ว่า ไม่น่าจะกระทบกับการสนับสนุนบริการสาธารณะเกี่ยวกับการศึกษาและสาธารณสุข เนื่องจากองค์กรภาคประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ ยังสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ เพียงแต่สัดส่วนการอุดหนุนงบประมาณต้องไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนด
นายสุรกิจ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มีการขอรับการสนับสนุนด้านการศึกษาและสาธารณสุขจำนวนมากและไม่ชัดเจน เช่น สนุบสนุนโรงพยาบาลก็เหมาว่าเป็นการสนับสนุนด้านสาธารณสุข หรือ บางอย่างก็ออกไปในลักษณะของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งโดยหลักการก็ไม่ควรทำอย่างนั้น จึงมีการออกประกาศเพื่อวางแนวทางใหม่ ให้สนับสนุนงบประมาณได้ตามอำนาจหน้าที่ที่ กกถ. กำหนดไว้ และการออกประกาศดังกล่าว ทาง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้หารือรับฟังความคิดเห็นจาก 3 สมาคมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ไม่ได้มีลักษณะใช้อำนาจเผด็จการแต่อย่างใด
“กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ อปท.ในการป้องกันและระงับโรคติดต่อหรืออำนาจหน้าที่ในด้านการสาธารณสุข อย่างเรื่องป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไข้เลือดออก ฯลฯ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่ อปท.มีอยู่แล้ว ก็ทำไป แต่ถ้าภาคประชาชนในพื้นที่อยากทำกิจกรรมอะไรก็ไม่ถึงกับตัดช่องทางสนับสนุนเรื่องสุขภาพเลย ก็มาขอได้เหมือนเดิมจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพียงแต่อยู่ภายใต้เพดานที่กฎหมายระบุไว้ รวมๆ ไม่เกิน 10-15% หมายถึงท้องถิ่นมีเงิน 100 บาท ถ้าจะอุดหนุนใครก็ไม่เกิน 10-15 บาท ถ้ารวมแล้วมันเกินก็ไม่ได้” นายสุรกิจ กล่าว
นายสุรกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับความเห็นส่วนตัวแล้ว งานด้านการส่งเสริมสุขภาพ งบประมาณไม่ใช่หลักสำคัญ แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือพฤติกรรมคนและการเรียนรู้
“ผมอยู่กับพื้นที่มา งบประมาณไม่ได้มีผลมากเลย ลงไปเท่าไหร่ กี่สิบปีแล้ว แต่ทำไมคนที่อายุมากกว่า 50 มีแค่ 5% เท่านั้นที่ไม่เป็นความดัน เบาหวานเลย ที่เหลือทั้งประเทศเป็นกันหมด ซึ่งงบประมาณก็ลงไปไม่ใช่น้อยแต่คนก็ยังเป็นกันอยู่ แสดงว่าพฤติกรรมคนไม่เปลี่ยน ยังบริโภคไม่ถูก ยังไม่เห็นทุกข์ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ อปท.ควรหันมาสนใจตรงนี้มากขึ้น จะบอกว่างบไม่พอ ผมคิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น ปัญหาอยู่ที่การเรียนรู้ยังไม่ถึงจุดเปลี่ยนของพฤติกรรม ปัญหามันก็เลยเป็นแบบนี้” นายสุรกิจ กล่าว
- 17 views