บอร์ด สปสช.ลงมติไม่รับรอง “นพ.ประทีป” เป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ด้วยคะแนนเฉียดฉิว 14 ต่อ 13 จากกรรมการ 30 ราย งดออกเสียง 3 ราย เหลือกรรมการผู้ลงคะแนน 27 ราย เตรียมเดินหน้ากระบวนการสรรหาใหม่

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ที่ประชุมมีวาระการคัดเลือกและสรรหาเลขาธิการ สปสช. ซึ่งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการได้รายงานผลการสรรหาว่า มีผู้ผ่านการสรรหาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2 ราย คือ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช.

ทั้งนี้จากการส่งตีความเรื่องคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่า นพ.วันชัย มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 12 และตามมติบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 ระบุว่า หากเหลือผู้ผ่านการสรรหา 1 คนที่มีคุณสมบัติไม่ขัดตามกฎหมาย บอร์ด สปสช.จะลงมติว่าจะรับรองผู้ผ่านการสรรหาให้เป็นเลขาธิการ สปสช.หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการลงมติรับรอง นพ.ประทีป แสดงวิสัยทัศน์ต่อบอร์ด สปสช.โดย นพ.ประทีป กล่าวถึงวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การทำงานและการเน้นหนักที่จะต้องดำเนินการของเลขาธิการ สปสช.ในช่วง พ.ศ.2559-2564 ว่า ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง มียุทธศาสตร์การทำงานและงานที่เน้นหนัก 5 ด้าน ดังนี้

1.บุคคลทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน

2.สนับสนุนส่งเสริมการบริหารสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายให้มีคุณภาพมาตรฐานและผู้ให้บริการมีความสุข

3.สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อจัดการให้ระบบมีประสิทธิภาพและคุ้มครองสิทธิ

4.บริหารกองทุนมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมและมีความยั่งยืนทางการเงิน

5.สปสช.เป็นหน่วยงานหลักของระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง โปร่งใส

“สรุปภารกิจของเลขาธิการ สปสช.เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนมากขึ้น ต้องสร้างความสมดุลของผู้มีส่วนได้เสียทางยุทธศาสตร์ ก้าวและเติบโตไปด้วยกัน หรือ Go and Growth Together นั่นคือ ประชาชน ผู้ใช้บริการ เข้าถึงสิทธิประโยชน์ และการบริการที่ได้มาตรฐาน ส่วนวิชาชีพ ผู้ให้บริการ มีทางเลือกในการให้บริการตามมาตรฐาน และได้รับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย ดูแลภาพรวม และควบคุมภาระด้านงบประมาณ” นพ.ประทีป กล่าว

ทั้งนี้ มติบอร์ด สปสช.ให้ลงคะแนนแบบเป็นความลับ ผลการลงคะแนนปรากฎว่า ที่ประชุมมีมติไม่รับรองให้ นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการ สปสช.ด้วยคะแนน 14 เสียง ต่อคะแนนรับรอง 13 เสียง และงดออกเสียง 3 ราย คือ นพ.ปิยะสกล ที่ระบุก่อนลงคะแนนว่างดออกเสียง รองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ติดภารกิจออกจากที่ประชุมไปก่อนการลงคะแนน และในใบลงคะแนนมีกรรมการ 1 รายที่ไม่กากบาททั้งในช่องรับรองและช่องไม่รับรอง ด้วยเหตุนี้จึงเหลือผู้ลงคะแนนเสียง 27 ราย จากกรรมการทั้งหมด 30 ราย และให้เริ่มกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ มีประเด็นขัดแย้งในคณะกรรมการ เนื่องจากมีบัตรลงคะแนน 1 ใบ ที่ใช้เครื่องหมายถูกลงในช่องไม่รับรอง และถูกกรรมการส่วนหนึ่งมองว่าควรจะเป็นบัตรเสีย เนื่องจากไม่ได้ใช้กากบาท ต่อมาเมื่อผลการนับคะแนนแล้วเสร็จ ปรากฎว่าคะแนนรับรอง และไม่รับรองห่างกัน 1 คะแนน มีกรรมการเสนอว่า บัตรลงคะแนนนี้น่าจะเป็นบัตรเสีย ที่สุดจึงมีการโหวตและมีผู้โหวต 18 คนที่รับรองว่าบัตรลงคะแนนนี้เป็นบัตรดี ไม่ใช่บัตรเสีย

แต่การอภิปรายของคณะกรรมการในประเด็นนี้ก็ยังไม่จบ กระทั่ง นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่า ถ้าตนบอกว่า บัตรลงคะแนนนี้เป็นของตน และตนมีเจตนาที่ไม่รับรอง เรื่องนี้จะจบหรือไม่ ขณะที่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการสัดส่วนผู้สูงอายุ กล่าวในที่ประชุมว่า ตนได้ลงคะแนนรับรองให้ นพ.ประทีป แต่เมื่อผลคะแนนออกมาที่ห่างกัน 1 คะแนนก็สะท้อนปรากฎการณ์บางอย่างของคณะกรรมการชุดนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือมีความเห็นต่างกันมาก ในทางกลับกันหาก นพ.ประทีป ผ่านการรับรองด้วยคะแนนมากกว่า 1 คะแนน ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำงานกันอย่างไร ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจกันเช่นนี้ ซึ่งในการทำงานไม่อยากให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ กรรมการทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้คือตัวแทนของประชาชนกว่า 48 ล้านคน เฉพาะหน้าคิดว่าการลงมติครั้งนี้ได้ทราบผลกันแล้ว 

“ผมกำลังดูว่าเรากำลังจะไปลึก บาดแผลจะไปลึกลง ลึกลงเรื่อยๆ จนเกินเยียวยาเหมือนบ้านเมืองอยู่ขณะนี้ มันคงไม่ถึงขนาดจะเป็นจะตายในเมื่อแพ้ก็ต้องยอมรับว่าแพ้แล้วเราไปว่ากันใหม่ แล้วผมอยากจะให้เราทุกฝ่ายเปิดใจกัน ขอบคุณ เพื่อเดินไปได้ เพราะไม่งั้นเนี่ยในที่ประชุมอนุกรรมการเราก็จะทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องเล็กเรื่องน้อยเราหยิบขึ้นมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกันไปหมดเลย แล้วชาวบ้านสี่ห้าสิบล้านคนจะอยู่ยังไง อยากจะขอความกรุณาทุกฝ่ายนะครับ ผมไม่ได้บอกว่าฝ่ายไหน ขอความกรุณาทุกฝ่ายให้มันจบไปและอย่าให้มันมีปัญหา ที่ต้องไปเป็นมีประเด็นมาฟ้องร้องหยิบเรื่องเล็กเรื่องน้อย หากเป็นแบบนี้มันจะไปไม่ได้ ทั่วโลกเค้ามองเราอยู่นะครับ SD G Gold 3.8 (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ) เค้ามองประเทศกำลังพัฒนา เค้ามองประเทศไทยเป็นโกลสแตนดาร์ดเลยนะ แล้วถ้าเกิดเราแตกแยกกันอย่างนี้เนี่ย เราจะพังก่อนเพื่อนแล้วเราจะคอยพาทั้งโลกพังไปด้วย” นพ.สุวิทย์ ระบุ